มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เปิดบ้านจัดประชุมเชิงเสวนาเครือข่ายการท่องเที่ยวอุทยานธรณีประเทศไทย คืนข้อมูลการพัฒนาต้นแบบและกลไกบริหารจัดการเครือข่ายฯ พัฒนานวัตกรรมสื่อความหมาย ยกระดับแหล่งอุทยานธรณีในไทย ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมเชิงเสวนาเครือข่ายการท่องเที่ยวอุทยานธรณีประเทศไทย ณ หอประชุม มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม “การประชุมเชิงเสวนาเพื่อพัฒนาต้นแบบและกลไกการบริหารจัดการเครือข่ายการท่องเที่ยวอุทยานธรณีในประเทศไทย” ภายใต้แผนงานวิจัย “การพัฒนาและยกระดับการจัดการเครือข่ายการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีในประเทศไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมี ดร.สุวิมล บัวทอง อาจารย์ในสังกัดวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยฯ และมี ดร.นราวดี บัวขวัญ เป็นหัวหน้าโครงการย่อย 1 การพัฒนาและยกระดับการจัดการเครือข่ายการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีในประเทศไทย ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี เป็นหัวหน้าโครงการย่อย 2 การพัฒนาระบบการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีในประเทศไทย
การจัดประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากตัวแทนคณะผู้บริหารจาก สกสว. ผู้ทรงคุณวุฒิจาก บพข. ผู้อำนวยการกรมทรัพยากรธรณี ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ผู้อำนวยการอุทยานธรณีขอนแก่น ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ผู้อำนวยการอุทยานไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสามพันโบก จ.อุบลราชธานี และ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูล เข้าร่วมการประชุมเชิงเสวนา วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการคืนข้อมูลการพัฒนาต้นแบบและกลไกการบริหารจัดการเครือข่ายการท่องเที่ยวอุทยานธรณี และการพัฒนานวัตกรรมการสื่อความหมายเพื่อการยกระดับแหล่งอุทยานธรณีในประเทศไทย ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอุทยานธรณี ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานวิจัยต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ มรภ.สงขลา ที่เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่มีพื้นที่เป้าหมายในการบริการด้านวิชาการและงานวิจัย ในพื้นที่ จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.สตูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ จ.สตูล ซึ่งได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก้ให้เป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา
ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงร่วมส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและงานวิจัยลงสู่พื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายและการหนุนเสริมของสำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีในประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในทุกมิติให้เกิดขึ้นกับอุทยานธรณีทุกแห่งในประเทศไทย