วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา นำน้องปล่อยปู ปลูกป่า สร้างจิตอาสารุ่นใหม่

ท่ามกลางแสงแดดร้อนแรงยามบ่าย เหล่าต้นกล้าสภาปาริฉัตร ปี 63 มรภ.สงขลา มุ่งหน้าไปยังพื้นที่จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปูและปลูกป่า ใบหน้าเหล่าหนุ่มสาวผู้มีหัวใจจิตอาสาเต็มไปด้วยรอยยิ้มตลอดจนเสร็จสิ้นกิจกรรม และกลับไปพร้อมความรู้บวกประสบการณ์ใหม่ร่วมกัน  

นายสุวิทย์ เพ็งทิพย์นาง ปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนนำนักศึกษาต้นกล้าสภาปาริฉัตร 2563 เดินทางไปทำกิจกรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้เพาะพันธุ์ลูกปูบ้านหัวเขา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะความเป็นผู้นำให้กับนักศึกษา เนื่องจากเล็งเห็นว่าการทำกิจกรรมขณะศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการงานและการดำเนินชีวิต ในการทำกิจกรรมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ มีภาวะผู้นำ ตลอดจนสามารถร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 

นายทินกร หวังสป ประธานสภานักศึกษาภาคปกติ ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา กล่าวในฐานะผู้นำกิจกรรมในครั้งนี้ว่า การเดินทางไปยังพื้นที่ ต.หัวเขา ในครั้งนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรมย่อยคือ กิจกรรมปล่อยปู และ ปลูกป่าชายเลน ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อปลูกฝังให้นักศึกษา มรภ.สงขลา มีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือชุมชน และเป็นการสนองพระบรมราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งตนได้นำนักศึกษาทำกิจกรรมปล่อยปู ณ เกาะหนู และปลูกป่าชายเลน ณ บ้านหัวเขาแดง จ.สงขลา ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เนื่องจากได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี 

นายพีระพล ช่วยนรินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา เล่าในฐานะนักกิจกรรมน้องใหม่ว่า เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมลักษณะนี้อยู่แล้ว เมื่อทางสภานักศึกษาจัดกิจกรรมให้กับน้อง ๆ ชาวต้นกล้าฯ จึงอาสาเข้าร่วมกิจกรรมทันที โดยตนเลือกกิจกรรมปล่อยปูที่เกาะหนู รู้สึกสนุกกับการได้นั่งเรือข้ามไปยังเกาะ และอิ่มใจที่ได้ทำบุญด้วยการปล่อยปูเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ต่อไป ที่สำคัญคือได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้น และได้สนิทกับเพื่อนต่างคณะมากขึ้นด้วย

ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ที่ได้ทั้งความสุขใจ และได้ตอบแทนธรรมชาติที่สร้างสงขลาให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนอยากท่องเที่ยว แม้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ แต่เชื่อว่าในวันหนึ่งข้างหน้าต้นไม้ที่ช่วยกันปลูกไว้ จะเติบโตขึ้นเป็นที่พึ่งพิงแก่สิ่งมีชีวิตอื่น เช่นเดียวกับลูกปูตัวจิ๋วที่จะเติบโตขึ้นเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเลต่อไป