มรภ.สงขลา ติวเข้มนักวิจัยพัฒนาทักษะการขอจริยธรรมวิจัยในมนุษย์
เทียบเชิญวิทยากรแนะวิธีเขียนโครงร่างฯ สร้างผลงานคุณภาพสู่สากล

มรภ.สงขลา จัดอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เทียบเชิญวิทยากรถ่ายทอดวิธีเขียนโครงร่างการวิจัยให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมคณาจารย์และนักศึกษามีองค์ความรู้สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสู่สากล

เมื่อวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์” ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 4 อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย อาจารย์พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ซึ่งการอบรมในครั้งนี้นอกจากการบรรยายให้ความรู้แล้ว ยังมีการฝึกปฏิบัติการเขียนโครงร่างการวิจัย การอภิปรายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ มรภ.สงขลา ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ ผศ.สิทธิชัย งามชื่นสุวรรณ และ ผศ.ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ตลอดจนกระบวนการขั้นตอนในการขอรับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัย รวมถึงเทคนิคและวิธีการในการเขียนโครงร่างการวิจัยให้ได้มาตรฐานและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมฯ

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ทั้งในด้านความรู้และทักษะการวิจัย รวมถึงการปลูกฝังจรรยาบรรณและจริยธรรมการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก มรภ.สงขลา จึงมีแผนที่จะจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพการวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้และผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสู่สากล

ด้าน อาจารย์พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดโครงการอบรมในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์และนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ รวมถึงกระบวนการขอรับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยอย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้งานวิจัยมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระดับสากลได้ต่อไป