วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา จับมือ อบจ.สงขลา-สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนฯ-ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา อบรมหลักสูตรผู้ตรวจแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เดินหน้า MOU เพื่อการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ จับมือ อบจ.สงขลา สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา อบรมหลักสูตรผู้ตรวจแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS หวังยกระดับนักศึกษาและเครือข่ายเกษตรกร สู่การเป็นนักส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้หลักสัมมาชีพชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้ตรวจแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2565 ณ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา โดยมี นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิด ว่า โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มรภ.สงขลา กับสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา และศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อการศึกษาและการพัฒนานวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ร่วมกันมาก่อนหน้านี้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ.สงขลา ในการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการแก่นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา และเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลาและใกล้เคียง เพื่อยกระดับการเป็นนักส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อจัดการพื้นที่ ผลผลิต ด้วยนวัตกรรมปฏิรูปเกษตรอินทรีย์ไทยแบบกลไกครบห่วงโซ่ ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยหลักสัมมาชีพชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สงขลามหานครเกษตรอินทรีย์-BCG โมเดล ที่จะพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมจังหวัดสงขลา ยกระดับภาคใต้สู่การเป็น Organic Hub of ASEAN และเป็นศูนย์กลางการตลาดเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยของภาคใต้ ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมได้เติมเต็มชุดความรู้ SEP & SDGs และ BCG+ESG กลไกของ SDGsPGS ตนมีความยินดีที่นักศึกษาของทางคณะฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรม และรู้สึกถึงความต้องการปรับวิธีการผลิตพืชสู่การเกษตรแบบอินทรีย์ที่ยั่งยืน

ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวเสริมว่า ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาโดยวิทยากรที่มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ทิศทางการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อนำสงขลาสู่การเป็นมหานครเกษตรอินทรีย์ และการประกาศวาระเกษตรอินทรีย์สงขลา ประเด็นที่เป็นประโยชน์จากการสร้างการเรียนรู้การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ร่วมกัน ทำให้เห็นภาพของความเป็นผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลงจากวิธีคิดที่มองภาพอนาคต การร้อยเรียงจากความหลากหลายของช่วงวัยเยาวชนกับผู้ใหญ่ ซึ่งนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตรที่เข้าร่วมในครั้งนี้มีความกล้าและตื่นตัวในการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการที่จะเข้าร่วมเกษตรอินทรีย์ ที่แม้วัยจะแตกต่างกันแต่กลับมีกรอบความคิดที่ตกผลึกและมีความสอดคล้องกันอย่างลงตัว และพร้อมการนำสู่ยุทธศาสตร์จังหวัดที่แก้ Pian Point และยกระดับเกษตรอินทรีย์สงขลาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ด้าน นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายก อบจ.สงขลา กล่าวว่า จากการจัดอบรมในครั้งนี้เห็นได้ว่าทุกคนเริ่มมีความตระหนักในการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยแหล่งอาหารชุมชน ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรชุมชน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยรูปแบบการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่มุ่งเน้นความเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ เน้นรู้รัก สามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ ด้วยการสร้างสัมมาชีพชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ร่วมกันส่งเสริมและยกระดับเกษตรกรให้อยู่แนวหน้า ดังจะเห็นได้จากภาคีที่เข้าร่วมมีทั้งเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เครือข่ายภาคีที่มีส่วนราชการคอยหนุนเสริม มีสถาบันการศึกษาให้ความรู้และต่อยอดเรื่องนวัตกรรม โดยมีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ในฐานะสำนักบ่มเพาะวิชาการวิสาหกิจในชุมชนอย่างต่อเนื่อง