
มรภ.สงขลา จัดยิ่งใหญ่งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2568 “สงขลาสู่มรดกโลก” ยกระดับภารกิจขับเคลื่อนมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลาสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ UNESCO ชี้เป็นมากกว่างานเฉลิมฉลอง แต่คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมที่สะท้อนคุณค่าในหลากหลายมิติ


วันที่ 26 กรกฎาคม 2568 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในในพิธีเปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2568 “สงขลาสู่มรดกโลก” ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-3 สิงหาคม 2568 ณ เวทีกลาง มรภ.สงขลา กล่าวรายงานโดย ผศ.พิเชษฐ์ จันทวี รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา ภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองเขารูปช้าง และ เครือข่ายภาคประชาสังคม



ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวว่า วัฒนธรรมคือรากฐานอันมั่นคงของสังคม เป็นเครื่องสะท้อนตัวตนและอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชนและประเทศชาติ สำหรับเมืองสงขลามรดกทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทั้งในรูปแบบของสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตพหุวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา คือ “คุณค่าอันเป็นสากล” ที่เราทุกคนต่างภาคภูมิใจ



ปัจจุบันการขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO มิใช่เป็นเพียงเป้าหมายของการอนุรักษ์ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสรรค์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สถาบันการศึกษาดังเช่น มรภ.สงขลา จึงต้องเป็นสถาบันหลักในการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งหาแนวทางส่งเสริมให้เกิด การเลือกปรับใช้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้ชุมชนและสังคมชาติสามารถพัฒนาชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับพลวัตของโลก



การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ในครั้งนี้ จึงเป็นมากกว่างานเฉลิมฉลอง แต่คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนทั้งเยาวชน นักศึกษา และประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ทะนุบำรุง และ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของเมืองเก่าสงขลาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต อาหารการกิน หรือการแสดงพื้นถิ่น



ด้าน ผศ.พิเชษฐ์ จันทวี กล่าวว่า มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 37 แล้ว ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปีนี้การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ได้ยกระดับภารกิจให้สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO อันเป็นวาระสำคัญของจังหวัดและของประเทศ การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นเวทีในการสร้างความตระหนักรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองสงขลา


ทั้งนี้ มรภ.สงขลา ได้จัดกิจกรรมที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวหลากหลายด้าน อาทิ ด้านพิธีกรรม พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลในการขับเคลื่อนภารกิจอันยิ่งใหญ่ ด้านการแสดงและกิจกรรมทางวัฒนธรรม การแสดงที่สะท้อนอัตลักษณ์พหุวัฒนธรรมของสงขลา อาทิ โนรา หนังตะลุง รองเง็ง และการแสดงจากชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาค เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม การแสดงเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ด้านนิทรรศการ “สงขลาสู่มรดกโลก” นิทรรศการอาหารและของหรอย 16 อำเภอ
ด้านการสาธิตและจำหน่ายสินค้า กิจกรรมสาธิตพิธีกรรม “โนราโรงครู” (บูรณาการกิจกรรมร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา) การสาธิตอาหารและขนมพื้นถิ่นของสงขลา ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สาธิตการแทงหยวก ประดับตกแต่งเบญจา ศิลปะงานช่างฝีมือชั้นสูงที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน ซึ่งเป็นวิชาความรู้ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์จากชุมชนต้นแบบของมหาวิทยาลัย