วันจันทร์, 23 กันยายน 2567

มรภ.สงขลา จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านคณะมนุษยศาสตร์ฯ ครั้งที่ 3 เทียบเชิญ “ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา” ปาฐกถาพิเศษในรูปแบบออนไลน์

มรภ.สงขลา จัดประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระดับชาติ ครั้งที่ 3 เทียบเชิญ “ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา” อดีตนายกสภาฯ ปาฐกถาพิเศษ “กระบวนทัศน์ใหม่ของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับการพัฒนาท้องถิ่น” ฯ สุดปลื้ม นักวิจัย มรภ.สงขลา คว้า 5 รางวัลบทความระดับดี-ดีเด่น

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระดับชาติ ครั้งที่ 3 “กระบวนทัศน์ใหม่ของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับการพัฒนาท้องถิ่น” จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ร่วมกับเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัยราชภัฎภาคใต้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2564 ว่า ขอชื่นชมทางคณะผู้จัดงานที่ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการขึ้นในครั้งนี้   ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการวิจัยเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากลตามยุทธศาสตร์ที่ 3 ของ มรภ.สงขลา

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวอีกว่า การเปิดเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและวิชาการแก่คณาจารย์  นักวิชาการ นิสิตและนักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนความรู้อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัย สร้างสรรค์งานวิชาการที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศชาติ สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า มรภ.สงขลา : สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนเจ้าภาพร่วมจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 5 แห่ง และขอขอบพระคุณ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตนายกสภา มรภ.สงขลา ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ องค์ปาฐกที่ให้เกียรติมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับการพัฒนาท้องถิ่น”การจัดโครงการครั้งนี้ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในอนาคต

ด้าน ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า การประชุมวิชาการที่จัดขึ้นในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 500 คน ได้แก่ คณาจารย์ นักวิจัย  นักวิชาการ   ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถือเป็นเวทีให้คณาจารย์  นักวิจัย นิสิต  นักศึกษาและผู้สนใจได้นำเสนอและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการสู่สาธารณชนและชุมชนวิชาการ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ สู่การพัฒนางานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นการรวบรวมจัดพิมพ์บทความทางวิชาการในรูปแบบเอกสารทางวิชาการ และสร้างเครือข่ายในการสร้างสรรค์งานวิจัยและงานวิชาการ ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันพัฒนางานวิชาการและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 ดร.รัชชพงษ์ กล่าวอีกว่า ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ทุกมิติ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ภาษาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ประยุกต์ ภาษาและวรรณคดี และการสอนภาษาต่างประเทศ กลุ่มที่ 2 ภาษาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ประยุกต์ ภาษาและวรรณคดี และการสอนภาษาไทย

กลุ่มที่ 3 ประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวและนันทนาการ กลุ่มที่ 4 สังคมศึกษาและภูมิศาสตร์ กลุ่มที่ 5 รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ กลุ่มที่ 6 พัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม กลุ่มที่ 7 ศิลปกรรมและการออกแบบ กลุ่มที่ 8 การจัดการวัฒนธรรม กลุ่มที่ 9 การจัดการสารสนเทศ และ กลุ่มที่ 10 การบริหารจัดการ โดยได้รับความกรุณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยจำนวน 10 แห่ง ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานวิจัยและงานวิชาการ

ทั้งนี้ มีผู้ส่งบทความวิจัยและบทความวิชาการเข้าร่วมนำเสนอรวมทั้งสิ้น 112 บทความ โดยได้มีการพิจารณาคัดเลือกบทความที่ได้รับรางวัล แบ่งออกเป็น บทความดีเด่น 5 บทความ และ บทความดี 7 บทความ ในการนี้ มีนักวิจัยจาก มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลบทความดีเด่นจำนวน 2 บทความ ได้แก่ 1. แนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนกรณีศึกษา : ชุมชนบ้านบากันเคย ตำบลตันหยงโป อำเภอเมือง จังหวัดสตูล จัดทำโดย กันตินันท์ โฉมทอง และ มุจลินทร์ ผลกล้า 2. แนวทางและเครื่องมือสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในรูปแบบออนไลน์ จัดทำโดย สุดารัตน์ จงบูรณสิทธิ์ และ วิสุทธิ์ กระจ่างศิริศิลป์

รางวัลบทความดี จำนวน 3 บทความ ได้แก่ 1. การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น จัดทำโดย ฮากีมะห์บือแน วิชชุดา เพชรสุวรรณ และ สลิลา เพ็ชรทอง 2. การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เสริมทักษะการอ่านภาษาอังกฤษโดยใช้เนื้อหาบริบทท้องถิ่นภาคใต้ สำหรับนักเรียนระดับช่วงชั้นที่ 2 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำโดย นูรฮันนาน ตูยง ทัศนีย์ ลอฮะ และ สลิลา เพ็ชรทอง 3. การศึกษาปัญหาการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดทำ โดย ซูไรนี กระโด ณิชารีย์ กะหละหมัด สิทธิโชค ดำเรือง และ อมรรัตน์ จิรันดร  

“เมื่อจบโครงการนี้คณะกรรมการดำเนินงานหวังอย่างยิ่งว่าจะเกิดการพัฒนาผลงานวิจัย การสร้างสรรค์งานวิชาการที่เข้มแข็ง เกิดการผนึกกำลังกันของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 5 แห่ง เพื่อจัดงานประชุมวิชาการทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในปีต่อ ๆ ไป” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา องค์ปาฐก ได้ร่วมเสนอมุมมองกระบวนทัศน์ใหม่ในเชิงวิชาการ จากวิกฤตสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว สู่การปรับตัว ฟื้นฟู และพัฒนาท้องถิ่น โดยอาศัยหลักทางด้านมนุษยศาสตร์ฯ ควบคู่การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด