
กองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา จัดโครงการบรรยาย “รู้เท่าทันการทุจริตคอร์รัปชัน” เทียบเชิญเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช ประจำ จ.สงขลา ถ่ายทอดความรู้นักศึกษาปี 1-4 หวังปลูกฝังค่านิยมต่อต้านการกระทำผิด สร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองดี ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ผศ.พิเชษฐ์ จันทวี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) มอบหมายให้ ผศ.ธนัย ตันวานิช รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบรรยาย เรื่อง “รู้เท่าทันการทุจริตคอร์รัปชัน” ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารศูนย์รวมกิจการนักศึกษา มรภ.สงขลา จัดโดย กองพัฒนานักศึกษา สำนักงานอธิการบดี โดยได้เชิญ นางสาวศุภัสรา อมรลักษณ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช ประจำจังหวัดสงขลา เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “การทุจริตคอร์รัปชันกับสังคมไทยในปัจจุบัน และถ้าไม่มีการคอร์รัปชันสังคมจะเป็นอย่างไร” ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 มรภ.สงขลา จำนวน 600 คน วัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันและโทษของการทุจริตคอร์รัปชัน


ทั้งนี้ การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่แพร่กระจายขยายวงกว้างไปทั่วโลก จากผลการศึกษาพบว่าในประเทศไทยมีการทุจริตคอร์รัปชันมาโดยตลอด ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ซึ่งเข้ามาร่วมงานกับภาครัฐ อีกทั้งได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม เสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนความมั่งคงของประเทศ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ปัญหาการทุจริตในประเทศไทยยังมิได้ลดน้อยลงในขณะนี้ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่เป็นอุปสรรคในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อาทิ ค่านิยมในการบริโภค ความสะดวกสบาย ยกย่องคนที่มีฐานะดี และวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความเสื่อมของค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย ประกอบกับปัญหาความล่าช้าและความโปร่งใสในการให้บริการของภาครัฐ รวมทั้งการละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังสะสมมานานและเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการทุจริตเป็นอย่างมาก


จากข้อมูลดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2565 ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก จากประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 180 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าในสังคมไทยทุกวันนี้มีการทุจริตคอร์รัปชันมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ เช่น การแซงคิว ไปจนถึงเรื่องใหญ่ การทุจริตเชิงนโยบายระดับประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนทุกคนในสังคมไทย


ดังนั้น เมื่อพบเห็นคนทุจริตจึงไม่ควรนิ่งเฉยหรือปล่อยปละละเลย หรือเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชนที่ยังไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ควร การปลูกฝังค่านิยมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยการสร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองดี ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน


กิจกรรมที่กองพัฒนานักศึกษาจัดขึ้นในครั้งนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน