มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2563 “สืบสาน สร้างสรรค์ อารยธรรมพื้นถิ่น” ระหว่างวันที่ 12-18 ส.ค.นี้ เดินหน้าพันธกิจอนุรักษ์รากแก้วของแผ่นดิน ควบคู่ปลูกจิตสำนึกชุมชน-คนรุ่นใหม่ ร่วมฟื้นฟูภูมิปัญญา รักษาวิถีชีวิตที่งดงาม
ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2563 “สืบสาน สร้างสรรค์ อารยธรรมพื้นถิ่น” ระหว่างวันที่ 12-18 สิงหาคมนี้ว่า มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติ เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นรากแก้วของแผ่นดิน จึงจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังเป็นการส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สร้างความมีส่วนร่วมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับเครือข่าย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทย
ผศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า ภายในงานแบ่งออกเป็น 5 กิจกรรมหลักๆ ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ซึ่งมีการแสดงทางวัฒนธรรมจากหน่วยงานต่างๆ พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย ลานวัฒนธรรมของคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ หนังตะลุง โนรา การแสดงและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าราคาถูก กิจกรรมที่ 2 สัมมนาประวัติศาสตร์เมืองสงขลา กิจกรรมที่ 3 ประกวดภาพถ่ายสงขลา กิจกรรมที่ 4 การประกวดชวนชม และ กิจกรรมที่ 5 การประกวดของหรอย ซึ่งกองพัฒนานักศึกษาและคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย มรภ.สงขลา ร่วมกันจัดขึ้น
ด้าน อาจารย์โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณค่าความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมและความเป็นไทย ปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยและมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อย เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงาม
อาจารย์โอภาส กล่าวอีกว่า ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมมีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา หากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ไม่ได้รับการสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟู รวมถึงพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคมและจิตใจ ส่งผลให้คุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมลดน้อยไปจนแทบจะสูญหาย วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ในแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาหลากหลาย ควรที่จะได้รับการถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นหลัง ซึ่งการอนุรักษ์เป็นหนทางหนึ่งที่ยั่งยืนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนให้ดำรงอยู่ในท้องถิ่น
“การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยให้นักศึกษาเป็นผู้สืบทอดจากผู้รู้ในชุมชน สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดประมวลผล ตลอดจนสนับสนุนให้นักศึกษาและชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน มีความเข้าใจรากเหง้าความเป็นวัฒนธรรม แบ่งปัน เกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการศึกษาเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิต ชุมชนภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีมาช้านาน บนพื้นฐานของธรรมชาติที่เกี่ยวพันสอดคล้องกันกับวิถีชีวิตชุมชน”ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าว