วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

มรภ.สงขลา จัดกิจกรรม “แต่งไทยไปทอดน่องท่องเมืองเก่า” ขานรับ Soft Power เพิ่มศักยภาพชุมชน บนฐานอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น

มรภ.สงขลา ขานรับนโยบาย Soft Power จัดกิจกรรมแต่งไทยไปทอดน่องท่องเมืองเก่า เพิ่มศักยภาพชุมชนบนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ชวนคนรุ่นใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์สงขลา ผ่านมุมมองการถ่ายภาพ

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดกิจกรรมแต่งไทยไปทอดน่องท่องเมืองเก่า เพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เรียนรู้ประวัติศาสตร์สงขลา ณ ชุมชนบ้านหัวเขา อ.สิงหนคร พิธีเปิดโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 เส้นทางท่องเที่ยว วัดสุวรรณคีรี วัดบ่อทรัพย์ วัดศิริวรรณาวาส วัดภูผาเบิก และ รอบที่ 2 วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 เส้นทางท่องเที่ยวป้อมเมืองเก่าสงขลา และ เจดีย์องค์ขาว องค์ดำ โดยมีนักวิชาการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและความสำคัญของแหล่งโบราณสถานที่น่าสนใจต่าง ๆ

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทยด้วยการแต่งกายชุดไทย และผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย ส่งเสริมการต่อยอดนำคุณค่าวัฒนธรรมมาสร้างสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการจัดการศึกษา วิจัยบริการวิชาการ บูรณาการศิลปวัฒนธรรมสร้างคุณค่าและมูลค่า ในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ให้มีศักยภาพในการจำหน่าย สร้างรายได้ในชุมชนท้องถิ่นและสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

ดังนั้น มรภ.สงขลา โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้จัดกิจกรรมแต่งไทยไปทอดน่องท่องเมืองเก่า เพื่อส่งเสริมและผลักดัน Soft Power ด้านท่องเที่ยวด้วยมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเรียนรู้ผ่านมุมมองของการถ่ายภาพ ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยในมุมมองใหม่ ด้วยการผนวกเทรนด์ของสังคมปัจจุบันเข้ากับการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม และยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบพื้นที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ เช่น ร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ตลอดจนรถโดยสารสาธารณะและเรือโดยสารข้ามฟาก

นอกจากนั้น ยังสอดรับกับนโยบาย Soft Power ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้กำหนดขอบข่าย Soft Power 5 ด้าน หรือนโยบาย 5F ได้แก่ 1. อาหาร (Food) 2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3. ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4. มวยไทย (Fighting) และ 5. การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) ซึ่งบทบาทมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นหน่วยงานที่รวบรวมองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D (Research and Development) ทั้งในด้านวิชาการ กระบวนการ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ให้มีความเชี่ยวชาญและมีสมรรถนะสูง ในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คำนึงถึงตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย (KPIs and Targets) กลยุทธ์ด้านการรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ยกระดับสู่ชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยชุมชนเป้าหมายในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ 38 แห่ง ผสมผสานกับกลยุทธ์การสร้างคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy)