มรภ.สงขลา ขับเคลื่อนนโยบายสภามหา’ลัย ผ่าน 3 โปรเจกต์ใหญ่จัดการศึกษารูปแบบใหม่-สร้างศูนย์ Startup-จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ และพัฒนาหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ

มรภ.สงขลา ขับเคลื่อนนโยบายสภามหาวิทยาลัย ผ่าน 3 เรื่องใหญ่ 1. จัดการศึกษารูปแบบใหม่ ปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล 2. สร้างศูนย์ Startup และ Entreprenure ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ 3. จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์และพัฒนาหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ พร้อมผนึกกำลังเครือข่ายปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า มรภ.สงขลา ดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสภามหาวิทยาลัย ผ่าน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1. Education Transformation (ET): โครงการการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเรียนและชีวิตส่วนตัว พร้อมปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลด้วย Blended Learning และ Digital Transformation ภายใต้การออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ควบคู่พัฒนาทักษะสำคัญผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2. Entrepreneurial University (EU): โครงการสร้างศูนย์ Startup และ Entreprenure มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้าง (Startup ecosystem) ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเน้นการพัฒนาบุคลากร ทั้งนักศึกษา-ศิษย์เก่า ผ่านกิจกรรม Startup camp และพัฒนาอาจารย์บุคลากรให้เป็น Startup coach และ 3. Elderly Care-giver development (EC): โครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ และพัฒนาหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ มุ่งพัฒนากำลังคนแห่งอนาคต และรองรับประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย

แนวความคิดดังกล่าวมีที่มาจากการร่วมระดมความคิดเห็นเมื่อครั้งมีการประชุมสภา มรภ.สงขลา ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมวิชัย รัตนากีรณวร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่าเนื่องจากในปัจจุบันการเรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งในบางวิชาชีพสามารถพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะและสามารถสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ มหาวิทยาลัยจึงต้องมีความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ทั้งนี้ การจัดการศึกษารูปแบบใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มรภ.สงขลา มีศักยภาพในการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาเป็น Startup โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา (Mentor) ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะสนับสนุนในการดำเนินงาน เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เทศบาลเมืองเขารูปช้าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หอการค้าจังหวัดสงขลา เป็นต้น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งสำนักบริหารทรัพย์สินเพื่อช่วยในการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีอธิการบดีเป็นผู้สนับสนุนในการดำเนินงาน และมีระเบียบสภานโยบายและการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการ ซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

นอกจากนั้น มรภ.สงขลา มีต้นทุนเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากเดิม ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีอาคารสถานที่ที่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งมีอาจารย์ที่มีองค์ความรู้ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ซึ่งจะต้องมีการวางระบบและแผนปฏิบัติการที่ดี เพื่อค้นหาความเป็นราชภัฏ เช่น เรื่องการนำเที่ยวของนักศึกษา เรื่องสังคมสูงอายุ เป็นต้นโดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งการสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการ เพื่อการทำงานร่วมกันต่อไป