วันจันทร์, 27 มกราคม 2568

มนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดงานของดี ต.เขาขาว ปีที่ 3 ชูไฮไลท์ตำข้าวเม่าเพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดงานของดี ต.เขาขาว ปีที่ 3 ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ผนึกกำลังเครือข่ายในพื้นที่ร่วมสะท้อนความหลากหลายและงดงาม ชูไฮไลท์ตำข้าวเม่ากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สตูล

เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2568 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กิจกรรม “จัดงานของดี ต.เขาขาว ปีที่ 3” ณ ลานวัฒนธรรม ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล โดยได้รับเกียรติจาก นายธีรพงศ์ คุ้มเคี่ยม นายอำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ รองอธิการบดีวิทยาเขตสตูล และ ผศ.ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานคือการตำข้าวเม่าที่แสดงถึงความหลากหลายและความงดงามของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่ง ต.เขาขาว มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมที่พร้อมจะนำเสนอสู่สายตาสาธารณชน อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การแข่งขันตำข้าวเม่า การประกวดธิดาข้าวเม่า การแข่งขันตีสะบ้า การแข่งขันไก่แจ้ขัน การแข่งขันนกกรงหัวจุก การแข่งขันว่าว การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรีพื้นบ้าน การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน การแสดงสินค้าวิสาหกิจชุมชนเขาขาว นิทรรศการจากชุมชน เครือข่ายต่าง ๆ เป็นต้น โดยการจัดงานในครั้งนี้มีผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ ต.เขาขาว เข้าร่วมกว่า 300 คน

นายธีรพงศ์ คุ้มเคี่ยม นายอำเภอละงู กล่าวว่า โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างฐานความเข้มแข็งของชุมชน โดยได้นำเอาศักยภาพของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน รวมถึงการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่ บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทเชิงลึก นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการรวมตัวของประชากรทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในการร่วมคิด ร่วมลงมือพัฒนา เป็นพลังสำคัญในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินการของภาครัฐในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า

การพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชุมชนท้องถิ่นและเชิงพื้นที่ ถือเป็นการวางแผนที่เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับชุมชนแหล่งท่องเที่ยว การนำทุนทางศิลปวัฒนธรรมมาสร้างให้เกิดมูลค่าและคุณค่าใหม่ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนในทุกระดับเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนา เป็นการสร้างพื้นที่ สร้างความเข้าใจและยอมรับถึงคุณค่า รวมทั้งสร้างเป้าหมายร่วมหรือจุดร่วมอย่างสร้างสรรค์ ชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวมีบทบาทต่อการบริหารจัดการ และทำนุบำรุงคงคุณค่าแห่งความงดงามเอาไว้ให้ยั่งยืน โดยความเข้าใจและมีจิตสำนึกถึงความเป็นเจ้าของ ตลอดจนมีสิทธิ์กำหนดแนวทางการพัฒนาไปด้วยกัน

ด้าน ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ รองอธิการบดีวิทยาเขตสตูล มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดงานของดี ต.เขาขาว ปีที่ 3 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชาวและธุรกิจท้องถิ่น โดยการสนับสนุนและพัฒนาสินค้าพื้นเมืองให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น และรักษา ส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาขาวให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมทั้งเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชนและสัมผัสกับความงามและวิธีชีวิตของเขาขาวในแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรชุมชนในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ การพัฒนาชุมชนในปัจจุบันจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข็มแข็งทางด้าน Soft Power ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ความนุ่มนวลในการชักชวนและดึงดูดใจ การเพิ่มศักยภาพชุมชนด้วย Soft Power เป็นการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างคนในชุมชน ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมให้มีความโดดเด่นและน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชน การให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่เพียงแต่จะช่วยรักษามรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อีกด้วย ที่สำคัญ การส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะช่วยสร้างความภูมิใจให้กับคนในชุมชนและสร้างความสนใจจากภายนอกได้เป็นอย่างดี

การจัดงานของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/th/photo/2025012501