พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สื่อสาร ให้แก่ ศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนแยกค่ายสิรินธร สัมพันธ์ โรงพยาบาลยะลา จังหวัดยะลา ส่วนแยกค่ายอิงคยุทธบริหาร สัมพันธ์ โรงพยาบาลปัตตานี จังหวัดปัตตานี ส่วนแยกค่ายลพบุรีราเมศวร์สัมพันธ์ โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา ส่วนแยกจังหวัดนราธิวาส สัมพันธ์ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงห่วงใย และทรงคำนึงถึงความยากลำบากของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยและอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งจะต้องรีบเคลื่อนย้ายนำส่งโรงพยาบาลในเวลาที่จำกัด เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลได้ทันเวลา อีกทั้งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีมีคุณภาพ ดังพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุขของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พันเอก โชคชัย ขวัญพิชิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนในพื้นต่างมีความซาบซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขอตั้งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ให้การช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนในพื้นที่ทุรกันดาร ตลอดจนการอนุรักษ์กำลังด้านการแพทย์ฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล เพื่อจะได้พัฒนาสมรรถนะให้มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งๆขึ้นให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามพระราชประสงค์ และพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป
สำหรับรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินพระราชทาน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สื่อสาร เป็นรถพยาบาลกู้ชีพมาตราฐานที่สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนขั้นสูงระดับแอดวานซ์ มีระบบขับเคลื่อน 4X4 มีความคล่องแคล่ว พร้อมด้วยระบบลากจูง และระบบวินส์ สามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร รวมถึงสามารถลากพ่วงนำไปประกอบเป็นรถพยาบาลสนาม อีกทั้งยังมีความพิเศษที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารทางไกล โทรเวชกรรม หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากร ทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ video conference ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้า และสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลไม่จําเป็นต้องเดินทาง และสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที