วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

นิพนธ์ เร่งสร้างการรับรู้ ปชช. “เที่ยวสงกรานต์ขับขี่ปลอดภัย ไร้โควิด-19”

วันที่ 12 เม.ย.64 นายนิพนธ ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับเชิญจากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา (NBT SOUTH) มาร่วมให้สัมภาษณ์สดในรายการ “พิราบคาบข่าว” โดยมี นางสาวลลิตวดี แก้วสองเมือง และนางสาวปิยะฎา ชะยานัย เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องส่ง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา NBT สงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีประเด็นในเรื่องการรณรงค์”สงกรานต์ขับขี่ปลอดภัย ไร้โควิด-19″

นายนิพนธ์ รมช.มท. กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะที่อยู่ฝ่ายเลขา ของคณะกรรมการปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ที่จะบอกว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่จะกำหนดให้ โดยปีนี้มาตรการที่ใช้อยู่คือมาตรการศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ก็จะเป็นกลไกหลัก ศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ นายอำเภอเป็นประธาน และศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผู้บริหารท้องถิ่นเป็นประธาน ซึ่งมาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย เช่นกรณี ไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดนี้ยังคงเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในลำดับแรกในช่วง2วันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างกังวลอยู่มาก ซึ่งมองจากตัวเลขจากรายงานทั่วประเทศ

สถิติการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบ 2 วัน ในปี 64 กับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ขับรถเร็วยังคงเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ ยังเป็นรถที่เสี่ยงมากที่สุด เหตุที่เกิดจะเป็นถนนเส้นตรงที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ซึ่งจะสอดคล้องกับการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากขึ้น สาเหตุเกิดจากขับรถเร็ว ตัวเลขแบบนี้จึงอยากขอความร่วมมือกับประชาชน ว่าอย่าขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มาตรการควบคุมการบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเข้มงวด ซึ่งดูจากตัวเลขเมื่อปี 63 วันแรกเกิดเหตุ 178 ครั้ง ปีนี้วันแรกเกิดเหตุถึง 348 ครั้ง วันที่ 11 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ในปี 63 เกิดอุบัติเหตุ 165 ครั้งปีนี้วันที่ 2 ช่วงสงกรานต์เกิดเหตุ ถึง 357 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบการสูญเสียชีวิตปีที่แล้ว เสียชีวิตวันแรก 20 คน มาปีนี้วันแรกเสียชีวิต 26 คนวันที่ 2 ปีที่แล้วเสียชีวิต 21 คนแต่มาปีนี้วันที่ 2 ของเทศกาลสงกรานต์เสียชีวิต 31 คน ซึ่ง 2 วันรวมกันแล้วเสียชีวิตเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36 จึงน่าวิตกกังวล

ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าอีกหนึ่งน่าจะมาจากการขับรถส่วนตัว และเกิดจากถนนโล่งจึงทำให้ขับรถเร็วจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ดังนั้นจึงขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนว่าขับขี่ ใช้รถใช้ถนนอย่างไรให้ปลอดภัยและเที่ยวสงกรานต์อย่างมีความสุข การสวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย และเมาไม่ขับ ยังคงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดิมๆทุกปีที่ต้องเข้มงวด จึงอยากขอความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมายก็ดี อยากเห็นด่านชุมชน ด่านครอบครัวออกมาทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่งั้นคนไทยจะเสียชีวิต อย่างเมื่อปี 2559 คนไทยเสียชีวิตถึง 20,000 ราย แต่โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้ปีที่แล้วการเสียชีวิตจึงลดลงเหลือ 18,000 บาท ลดลงเฉลี่ยปีละ 1,000 คน ดังนั้นในปีนี้จึงมีที่มาว่าทำอย่างไรให้ทุกคนช่วยกันอย่างน้อยให้การเกิดอุบัติเหตุลดลงเหลือ 5% ซึ่งทางชุมชนถือว่ามีความสำคัญมาก โดยรัฐบาลอยากให้เห็นการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพราะถนนที่อยู่ในการดูแลของทางหลวง กับทางหลวงชนบทมีอยู่ประมาณ 100,000 กม. ทั่วประเทศ แต่ถนนที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น 300,000 กว่ากิโลเมตร ฉะนั้น 75% จึงอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าในหมู่บ้าน ในตำบล หรือในชุมชน จึงเป็นที่มาของ อสม. อปพร. ตำรวจหน่วยงานระดับตำบล สาธารณสุขระดับท้องถิ่น ต้องมาช่วยกัน แต่สิ่งสำคัญที่เราขาดหายไปก็คือ ความมีวินัย ที่พวกเราต้องช่วยกันสร้างให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม”

“ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ดื่มแล้วไม่ขับรถ และง่วงนอนก็ไม่ควรขับรถ สิ่งเหล่านี้ถ้าทำได้ก็จะช่วยลดการสูญเสียในช่วงเทศกาลสำคัญๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจต่างๆ ก็คือเจ้าหน้าที่ที่ห่วงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน และไม่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เพราะนี่คือความปรารถนาดีของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่ขับรถสัญจรในช่วงนี้เดินทางให้ปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎจราจร และระมัดระวังในเรื่องของโควิค-19 การสวมหน้ากากอนามัยการ ใช้แอลกอฮอล์ การรักษาระยะห่าง หรือแม้แต่ผ่านไปในจังหวัดใด เพื่อโหลดแอปต่างๆก็ขอความร่วมมือ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชน” นายนิพนธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ ยังฝากให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคลขอลประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น แต่การเกิดอุบัติเหตุสามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นที่มาของต้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้เป็นการดีที่สุด รวมถึงการนำระบบการแพทย์ฉุกเฉินต้องรวมกับอุบัติเหตุเข้าด้วยกัน ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนที่มีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งในช่วง 7 วันนี้จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมจากเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการอบรมมา โดยจากทั่วประเทศมีประมาณ 7,800 องค์กร แต่มาทำเรื่องของการแพทย์ฉุกเฉินประมาณ 5,000 กว่าองค์กร จึงอยากถือโอกาสนี้มาร่วมกันทำเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะนี่คือบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในการลดการสูญเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน