วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

นิพนธ์ ฯ เผย กรณีปัญหาเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กรมที่ดินยัน ทำถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบครบถ้วน

วันที่ 18 เมษายน 2565 ที่กระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่การรถไฟฯ ได้ฟ้องกรมที่ดิน โดยตน ได้สั่งการให้กรมที่ดินได้ชี้แจงข้อปัญหาดังกล่าว ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินได้ชี้แจงรายละเอียดมาดังนี้
  
  ตามที่ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าว กรณีที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี พ.ศ.2462 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย พื้นที่ 5,083 ไร่ นั้น กรมที่ดินขอชี้แจง ดังนี้
ประเด็นที่ 1 โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
  1.1  ปี พ.ศ. 2548 การรถไฟแห่งประเทศไทยขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งออกไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2518 โดยอ้างว่าเป็นที่ดิน ที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ. 2462
  1.2 กรมที่ดินมีคำสั่งที่ 1556/2550 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และ 163/2552 ลงวันที่ 29 มกราคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อพิจารณาว่ามีเหตุอันควรที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามคำร้องขอของการรถไฟฯ หรือไม่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้  แต่การรถไฟฯ ไม่สามารถจัดส่งแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ปี พ.ศ. 2462 ให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินเพื่อประกอบการพิจารณาได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เขตที่ดินของการรถไฟฯ จริง  จึงไม่เสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่อย่างใด กรมที่ดินพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ จึงสั่งยุติเรื่องและแจ้งผลให้การรถไฟฯ ทราบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552
   1.3 ปี พ.ศ. 2554  สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติให้เพิกถอนโฉนดเลขที่ 3466 และ 8564 ตามข้อ 1.1 เนื่องจากออกทับที่ดินของการรถไฟ ตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งกรมที่ดินได้ยุติเรื่องไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2552 ตามข้อ 1.2 จึงหารือแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อปี พ.ศ. 2555  สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งผลการพิจารณาว่า หน่วยงานผู้เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อน(การรถไฟฯ) ต้องนำรายงาน ของ ป.ป.ช. ไปฟ้องคดีต่อศาล วันที่ 2 ตุลาคม 2555 กรมที่ดินจึงแจ้งผลการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดให้การรถไฟฯ และ สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ  ซึ่งการรถไฟฯ ก็มิได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลตามความเห็นของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด
  ตามประเด็นที่ 1 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนแล้ว

    ประเด็นที่ 2 คำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560
   2.1 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 842-876/2560  ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560  ให้กรมที่ดินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
    2.2 กรมที่ดินตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นกรณีราษฎรจำนวน 35 ราย ได้นำหลักฐาน ส.ค.1 มาขอออกโฉนดที่ดิน จำนวน 40 แปลง  และการรถไฟฯ ได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินและฟ้องคดีต่อศาล  โดยศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ 
   2.3 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยยกเลิกเรื่องราวการออกโฉนดที่ดินของราษฎรทั้ง 35 ราย จำนวน 40 แปลง พร้อมทั้งจำหน่าย ส.ค.1  เสร็จสิ้นแล้ว
ตามประเด็นข้อ 2 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนแล้ว

   ประเด็นที่ 3 คำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561
   3.1 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 8027/2561  ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ให้กรมที่ดินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
   3.2  กรมที่ดินตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นกรณีราษฎร ได้นำ น.ส.3ข.เลขที่ 200 ม.13 (9) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองฯ จังหวัดบุรีรัมย์ มาขอออกโฉนดที่ดิน และการรถไฟฯ ได้คัดค้านว่าทับที่ดินของการรถไฟฯ บางส่วน โดยมีการรังวัดทำแผนที่พิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินและการรถไฟฯ แล้ว มีเนื้อที่ที่การรถไฟฯ คัดค้านจำนวน           9-3-39.8 ไร่ โดยศาลพิพากษาว่าที่ดินส่วนที่การรถไฟฯ คัดค้าน (จำนวน 9-3-39.8 ไร่) เป็นของการรถไฟฯ 
   3.3 กรมที่ดินมีคำสั่งที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไข น.ส. 3 ข.เลขที่ 200 ม.13 (9) ต.เสม็ด อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ ส่วนทับซ้อนที่ดินการรถไฟ เนื้อที่ 9-3-39.8 ไร่ ตามที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว แต่เนื่องจากคำสั่งกรมที่ดินเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ครอบครองที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ดังกล่าว จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของกรมที่ดิน ซึ่งผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้ยกอุทธรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565
ตามประเด็นที่ 3 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนแล้ว

    ประเด็นที่ 4 การรถไฟแห่งประเทศไทยขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดิน จำนวน 700 แปลง และ น.ส.3 ก. อีกจำนวน 7 แปลง ที่การรถไฟฯ อ้างว่าอยู่ในเขตที่ดินของการรถไฟฯ เนื้อที่ 5,083-0-80 ไร่ โดยใช้แผนที่ที่การรถไฟฯ ได้จัดทำขึ้นและใช้อ้างเป็นพยานในศาลตามประเด็นที่ 2 และ 3 ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 และ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564
   4.1 จากการตรวจสอบของกรมที่ดินพบว่า  การรถไฟฯ ได้จัดส่งแผนที่ให้กรมที่ดินไว้ 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับรองไว้ จากการคำนวณเนื้อที่ได้เนื้อที่ 4,745-1-00 ไร่  ฉบับที่ 2 เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2539 จากการคำนวณเนื้อที่ ได้เนื้อที่ 4,571-1-00 ไร่ ซึ่งแผนที่ทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกัน และเนื้อที่น้อยกว่าที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง
   4.2 กรมที่ดินได้ตรวจสอบระวางแผนที่ที่ใช้ในราชการเพื่อการออกโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน  ไม่ปรากฎว่ามีการนำแผนที่ของการรถไฟฯ ทั้งปี พ.ศ. 2531 และ ปี พ.ศ.2539 ไปถ่ายทอดลงในระวางแผนที่แต่อย่างใด กรมที่ดินจึงไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินได้ เนื่องจากไม่ทราบอาณาเขตที่ชัดเจน
   4.3 จากการตรวจสอบคำพิพากษาศาลฎีกา พบว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ที่คู่ความรับกันในคดีและผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น (ใช้ในคดีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และ ที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งการรถไฟฯ เป็นฝ่ายถูกราษฎรฟ้องคดี) จึงไม่สามารถนำแผนที่ดังกล่าวมาใช้ประกอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงอื่นได้  ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้การรถไฟฯ ทราบแล้ว
  4.5 กรมที่ดินได้นำแผนที่ของการรถไฟฯ ทั้งปี พ.ศ.2531 และ พ.ศ.2539 มาดำเนินการตามหลักวิชาการแผนที่ ปรากฎว่าแผนที่ทั้ง 2 ฉบับ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นแนวเดียวกัน ซึ่งมีผลในการพิจารณาเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน
  4.6 กรมที่ดินได้นำภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2497 มาใช้ในการตรวจสอบแนวเขตทางรถไฟเดิม แล้วกำหนดระยะแนวเขตจากศูนย์กลางทางรถไฟออกไปข้างละ 1 กิโลเมตร ปรากฎว่ารูปแผนที่ที่ได้ไม่สอดคล้องกับแผนที่ของการรถไฟในปี พ.ศ.2531 และ พ.ศ.2539 จึงทำให้มีแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ อยู่ 3 แนวเขต และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าแนวเขตที่ดินใดถูกต้อง เว้นแต่จะได้มีการรังวัดตามหลักวิชาการแผนที่
 
    กรมที่ดินได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา  ดังนี้
(1) กรมที่ดินได้จัดส่งระวางแผนที่ระบบพิกัดฉาก ยู ที เอ็ม ที่กรมที่ดินใช้ในราชการ ไปให้การรถไฟฯ ถ่ายทอดแนวเขตตามแผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างพร้อมทั้งลงนามรับรอง เพื่อกรมที่ดินจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินและ น.ส.3 ก. ได้ (กรณีนี้เป็นกรณีเดียวกับที่กรมที่ดินใช้ระวางแผนที่เพิกถอนเอกสารสิทธิในเขตป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้มีการถ่ายทอดแนวเขตป่าไม้ไว้ให้ในระวางแผนที่ของกรมที่ดิน) แต่การรถไฟฯก็ไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(2) กรมที่ดินตรวจสอบ พบว่าการรถไฟฯ ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1 ) ไว้เป็น ส.ค.1 เลขที่ 1180 พร้อมทั้งยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินและได้มีการนำรังวัดปักหลักเขตเพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ไปบางส่วนแล้ว แต่ยังคงเหลือพื้นที่ส่วนใหญ่ที่การรถไฟฯ นำรังวัดชี้เขตที่ดินไม่ครบถ้วนตามจำนวนเนื้อที่ที่ระบุไว้ในหลักฐาน ส.ค.1 ซึ่งหากการรถไฟฯ นำรังวัดชี้แนวเขตเพื่อออกโฉนดได้ครบตามจำนวนเนื้อที่ที่ได้แจ้ง ส.ค.1 ไว้ ก็จะทำให้ทราบขอบเขตที่ดินทั้งหมดของการรถไฟฯ และกรมที่ดินก็จะสามารถใช้แนวเขตดังกล่าว ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ซ้อนทับที่ดินของการรถไฟฯ ได้ แต่การรถไฟฯ ก็ไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(3) กรมที่ดินแจ้งให้การรถไฟฯ ส่งผู้แทนหรือตัวแทนเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะทำงานทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟ จำนวน 5,083 ไร่ และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่ามีที่ดินจำนวนทั้งหมดกี่แปลงที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟ และที่ดินแปลงใดทับซ้อนเป็นบางส่วน ซึ่งจะต้องทำการรังวัดในที่ดินเพื่อแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟ แต่การรถไฟฯ ก็ไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
  4.4 กรมที่ดินได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ว่ามีจำนวนกี่แปลง  เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทใด  ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบกับการรถไฟฯ อีกครั้งว่า เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือไม่ เพียงใด  โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่ วันที่ 4 เมษายน 2565 เมื่อมีการรังวัดที่ดินในพื้นที่แล้ว ก็สามารถนำหลักฐานที่กรมที่ดินตรวจสอบไว้มาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพิกถอนต่อไปได้

    กรณีที่การรถไฟฯ ได้ฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลางเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 นั้น  กรมที่ดินมีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอต่อศาลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำการรังวัดที่ดินเพื่อให้ทราบแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ ในฐานะที่การรถไฟฯ เป็นเจ้าของที่ดิน  เพื่อทราบอาณาเขตที่แน่ชัดเพื่อกรมที่ดินจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ทั้งแปลงหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหากอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ เป็นบางส่วน เป็นรายแปลงได้ต่อไป  ซึ่งหากศาล    มีคำพิพากษาให้การรถไฟฯ ทำการรังวัดที่ดินเพื่อทราบแนวเขตแล้ว  กรมที่ดินก็สามารถที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ทันที และเมื่อมีการเพิกถอนหรือแก้ไขที่ดินแปลงใดแล้ว  เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองได้ ซึ่งกรมที่ดินจะร้องขอต่อศาลให้การรถไฟฯ เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับกรมที่ดินด้วย เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่การรถไฟเป็นของการรถไฟฯแต่อย่างใด