เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 3/2564 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ
โดยที่ประชุมฯรับทราบการถ่ายโอนภารกิจจัดจ้างวิทยากรผู้สอนภาษาไทยจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ให้กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) ตั้งแต่ปี 2566 หลังจากพบว่าเด็กในวัยเรียนจำนวนมากยังไม่ได้เรียนหนังสือและมีปัญหาอ่านเขียนไม่ได้ และเห็นชอบแนวทางมอบอำนาจให้เลขาธิการศอ.บต.และเห็นชอบแนวทางมอบอำนาจให้เลขา ศอ.บต. พร้อมทั้งได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ได้แก่ การช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19แล้วกว่า 10,000 คน และจะเร่งพัฒนาอีก 7,000 คนให้แล้วเสร็จใน มี.ค. 65 แยก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่และผู้ที่ประสงค์เข้าทำงานเกษตรสวนปาล์มในมาเลเซีย
สำหรับการแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบไม้ร่วงชนิดใหม่ในยางพารารวม 308,351 ไร่ การยางแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 331 ล้านบาท เร่งศึกษาแก้ปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่และพัฒนาอาชีพชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบในการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่นำร่องและพื้นที่ขยายผลอีก 22,000 ไร่ควบคู่กันไป
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ได้เสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ (กพต.) ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการบูรณาการเพื่อขจัดความยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ระบบ “ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ คือ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และ มิติด้านการเข้าถึงบริการรัฐ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจนและคนจนทุกมิติ นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงและปัญหาเรือในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นอีกกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดฯตลอดช่วงที่ผ่านมา
ที่ประชุมฯยังได้เห็นชอบการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย – มาเลเซีย เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ การบริหารจัดการด่านการค้าชายแดน โดยเฉพาะด่านศุลกากรสะเดาเป็นด่านศุลกากรชายแดนที่มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าสูงที่สุดในประเทศไทยเป็นประตูเชื่อมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย จึงได้ให้ความสำคัญกับด่านศุลกากรสะเดาในฐานะอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสำคัญโดยมีเป้าหมายที่จะให้ด่านศุลกากรสะเดาสามารถรองรับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอกับปริมาณการค้าที่นับวันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะมาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดต้องให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนใต้ การแก้ไขปัญหาเรือประมงและการพัฒนาด่านสะเดาจะเป็นการช่วยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม