วันที่ 28 มิถุนายน 2564 มหาวิทยาลัยทักษิณ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นำทีมนักวิจัยประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วยนางสาวเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ ผู้ร่วมโครงการวิจัย ทำการส่งมอบฐานข้อมูลงานวิจัยข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงอินทรีย์เกรดพรีเมี่ยม แบรนด์ “ยอดทอง” ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA เพื่อส่งจำหน่ายประเทศสหรัฐอเมริกาและ ประเทศแคนนาดา ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัย “การยกระดับคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดพัทลุง ด้วยนวัตกรรม” ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้แก่ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพัทลุง ณ ห้องประชุมกาบบัว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพัทลุง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พร้อมส่งมอบผลงานวิจัยต่อให้กับสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การยกระดับคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดพัทลุงด้วยนวัตกรรม” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการกับสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เพื่อพัฒนาระบบ PGS-SPTA (ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม ภายใต้สมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง) ผลผลิตที่ได้ ประกอบด้วย 1. ได้ระบบ PGS-SPTA ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของระบบการตรวจสอบที่บริบทเฉพาะของเมืองพัทลุง โดยใช้ตราสัญญลักษณ์การรับรองคือ PGS-SPTA ORGANIC GI CERTIFICATION 2. ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเกรดพรีเมี่ยมแบรนด์ “ยอดทอง” ซึ่งผ่านระบบ PGS-SPTA จึงสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเรียกว่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA ORGANIC STANDARD ซึ่งเทียบเคียงเท่ากับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ CANANDIAN ORGANIC STANDARD และได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป (GI EU) โดยมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว จำนวน 12 ราย (จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 389 ราย) 3. ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเกรดมาตรฐานแบรนด์ “ชื่อแบรนด์ของเกษตรกร” ซึ่งผ่านระบบ PGS-SPTA จึงสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย และได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป โดยมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว จำนวน 96 ราย (จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 389 ราย) 4. คู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาคมฯ ได้แก่ คู่มือสำหรับสมาคมฯ กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPT คู่มือสำหรับผู้ตรวจสอบภายใน กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPTA คู่มือสำหรับผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPTA คู่มือสำหรับเกษตรกร กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPTA และคู่มือสำหรับกลุ่มเกษตรกร รายงานผลการดำเนินงานของกลุ่ม 5.QR-CODE เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลระบบการผลิตข้าวสังข์หยดของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 108 ราย เพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภค 6. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ และรายละเอียดเอกสารการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ NOP/USDA จำนวน 2 เล่ม
โดยนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่อง “การยกระดับคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดพัทลุงด้วยนวัตกรรม” มหาวิทยาลัยทักษิณ และสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่ได้ดำเนินการ จนได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA ORGANIC STANDARD มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ CANANDIAN ORGANIC ในระดับสากลนี้ จะเป็นผลนำให้เกิดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อไป