นักศึกษาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ทำวิจัยปริมาณการสั่งซื้อยาที่เหมาะสม แก้ปัญหาจัดการสินค้าในคลัง คว้ารางวัลอันดับ 1 (ระดับดีเด่น) นำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายด้านวิศวกรรม นวัตกรรม งานสร้างสรรค์ เวทีประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเครือข่ายภาคใต้ ครั้งที่ 6
ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา นายบรรหาร อิสระ และ นายอัมรี เจ๊ะหลี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต วิชาเอกเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภายใต้การควบคุมดูแลของ ผศ.คุลยา ศรีโยม และ อาจารย์ศรีวรรณ ขำตรี ได้รับรางวัลอันดับที่ 1 (ระดับดีเด่น) การนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายด้านวิศวกรรม นวัตกรรม งานสร้างสรรค์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากบทความวิจัยเรื่อง “การศึกษาปริมาณการสั่งซื้อที่เหมาะสม กรณีศึกษา ร้านขายยา ABC” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเครือข่ายภาคใต้ ครั้งที่ 6 The 6th Nation Science and Technology Conference จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา
สำหรับที่มาของงานวิจัยดังกล่าว เนื่องจากร้านขายยาเป็นหนึ่งในระบบบริการสุขภาพซึ่งผู้รับบริการมีความคาดหวังว่าจะได้รับบริการที่ดี ปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพของการให้บริการ ร้านยาจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการตอบสนองความความคาดหวังของผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความพึงพอใจ โดยเฉพาะการตรวจสอบคลังยา และการเบิกจ่ายยาต้องเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย
ทั้งนี้ ร้านขายยา ABC เปิดดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 10 ปี ตั้งอยู่ที่ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ปัจจุบันพบว่าทางร้านมีปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจัดการสินค้าในคลัง คือ บางครั้งมีจำนวนยาในคลังมากเกินไป ส่งผลให้ร้านขายยาเกิดต้นทุนจม และบางครั้งมีจำนวนยาในคลังน้อยเกินไป ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้า เพราะต้องเสียเวลารอการสั่งซื้อ และการส่งจากโรงพยาบาลเอกชนและรัฐ
จากปัญหาดังกล่าว เจ้าของร้านยาจึงต้องการแนวทางการบริหารจัดการด้านสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสให้ร้านขายยาประสบความสำเร็จมากขึ้น จึงนำมาสู่แนวคิดในการนำกระบวนการจัดการคลังสินค้า รวมถึงทฤษฎี ABC Analysis และ EOQ มาช่วยแก้ปัญหา การควบคุมระบบของสินค้าคงคลังยาภายในร้านในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ