วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

ทีมนักวิจัย ม.ทักษิณ ผลิตเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์อัตโนมัติ“TSU Automatic Alcohol Gel Dispenser”นวัตกรรมจากงานวิจัยตอบโจทย์การใช้งานด้วยขนาดกะทัดรัด ใช้ได้ทั้งระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ลดปัญหาเจลไม่ออกและความเสี่ยงจากการสัมผัส

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั่วโลกทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไป เช่น การลดการเข้าที่ชุมชน การสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน และต้องมีการทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น เป็นต้น เจลแอลกอฮอล์ก็เป็นสารตัวหนึ่งที่ใช้งานการทำความสะอาดที่ได้รับความนิยมเพราะสามารถใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคสูง ดังนั้นในแต่ละสถานที่ในปัจจุบันจะมีการนำเจลแอลกอฮอล์เหล่านี้วางไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ใช้งาน แต่การใช้งานโดยส่วนมากจะมีการสัมผัสปุ่มกดเพื่อรับเจลออกมาซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้ใช้บางส่วน ดังนั้นจึงมีเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์จำหน่ายตามท้องตลาดโดยไม่มีการสัมผัสปุ่มกดเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบคืออายุการใช้งานของเครื่องที่ต่ำและเกิดการอุดตันได้ง่ายเนื่องจากวัสดุและตัวปั๊มที่นำมาใช้ที่อาจจะปรับปรุงมาจากเครื่องจ่ายสบู่เหลวซึ่งทำให้เมื่อมาใช้กับเจลแอลกอฮอล์อาจจะส่งผลต่ออายุการใช้งานของเครื่องได้ ปัญหาที่พบอย่างหนึ่งคือในบางครั้งต้องนำเครื่องไปใช้งานบริเวณที่ไม่มีไฟฟ้าเครื่องบางเครื่องไม่สามารถใช้งานจากแบตเตอรี่ได้จำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่ อีกทั้งในปัจจุบันเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์ยังเป็นแบบกลไกซึ่งต้องใช้มือหรือเท้าในการกดเพื่อใช้งานซึ่งยังมีการสัมผัสตัวเครื่อง ดังนั้นหากมีการทำเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์ที่ไร้การสัมผัสตัวเครื่อง 100% จะทำให้ลดการเผยแพร่เชื้อโรคได้เป็นอย่างดีและให้ผู้ใช้งานสบายใจได้เต็มที่ว่าไม่มีการสัมผัสอุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น

ทีมนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดย อาจารย์ ดร.ธนวัฒน์ ศรีรักษา อาจารย์ ดร.ธวัช ชูชิต และอาจารย์ ดร.เสาวณีย์ สิงห์สโรทัย จึงใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มาแก้ปัญหาตรงนี้โดยใช้เซนเซอร์ในการตรวจจับตำแหน่งของมือเพื่อส่งข้อมูลไปประมวลผลให้เครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์ทำงานโดยใช้ปั๊มแบบรีดซึ่งลดการอุดตันของระบบได้และเมื่อผู้ใช้ได้เจลแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เพียงพอก็แค่เอามือออกจากหัวจ่ายเครื่องจะหยุดการทำงานทันที ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดสามารถนำไปวางบนโต๊ะหรือแขวนกับผนังได้นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้แหล่งพลังงานได้ให้สอดคล้องกับพื้นที่เช่นในพื้นที่ที่ไม่มีปลั๊กไฟ 220 โวลต์ สามารถเลือกใช้แบตเตอรี่ได้โดยเพียงแค่กดสวิตช์เลือก

ซึ่งในอนาคตทีมนักวิจัยจะมีการพัฒนาเครื่องจ่ายเจลอัตโนมัติ โดยเพิ่มระบบการนับจำนวนคนที่เข้ามาใช้งานและบันทึกเก็บข้อมูลไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลของผู้คนที่มาใช้บริการในสถานที่นั้นๆ และนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณปริมาณเจลที่เหมาะสมให้สอดคล้องในแต่ละสถานที่ได้และอีกสิ่งที่ที่จะพัฒนาในเครื่องตัวนี้ได้ คือ การมีระบบแจ้งปริมาณเจลพร้อมทั้งระบบเตือนเมื่อเจลใกล้จะหมดโดยอาจจะส่งเป็นสัญญาณแสงหรือเสียงให้สอดคล้องกับพื้นที่และอาจจะทำลิงก์ส่งเข้าระบบมือถือซึ่งสามารถดูได้ทุกเวลาและสถานที่ทั้งในเรื่องปริมาณคนที่เข้าออกและปริมาณเจลที่เหลืออยู่ อีกด้วย