
วันที่ 3 ตุลาคม 2563 เวลา 07.00 น. ที่บริเวณเชิงบันไดเขาตังกวน เทศบาลนครสงขลา กำหนดจัดพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ประจำปี 2563 โดยมีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พลเรือตรี กฤษฎา รัตนสุภา ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ คณะผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภา พนักงาน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงนักท่องเที่ยวร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก โดยนายกเทศมนตรีนครสงขลาได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากเขาตังกวนลงมาประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่บูชา จากนั้นพระครูวิรัตธรรมโชติ เจ้าคณะอำเภอเมืองสงขลา ประธานฝ่ายสงฆ์ได้กล่าวสัมโมทนียกถาและพระภิกษุสงฆ์ สามเณร จำนวน 195 รูป ออกรับบิณฑบาตจากประชาชน

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำ ยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสด็จไป จำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อไปเทศนาโปรดพุทธมารดาตลอดพรรษา ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย ประกอบด้วยบันไดแก้ว บันไดทอง และบันไดเงิน ซึ่งบันไดทั้งสามทอดลงมายังประตูนครสังกัสสะ เมื่อเสด็จถึงประตูเมืองเป็นเวลาเช้าตรู่ ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบข่าวต่างมาคอยต้อนรับเสด็จอย่างเนืองแน่น เพื่อจะคอยตักบาตร ถวายภัตตาหาร ดอกไม้ธูปเทียน ซึ่งเป็นที่มาของประเพณี “ตักบาตรเทโว” แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จ มีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่จะต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวาย ส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมาก ๆ ใช้วิธีโยนไปบ้าง ปาบ้าง โดยถือว่าเป็นการถวายที่ ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐาน และอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น จึงเกิดประเพณีทำขนมชนิดหนึ่งที่ห่อด้วยใบไม้ เรียก “ขนมต้ม” หรือ ห่อต้ม, ห่อปัดขึ้น ดังนั้น ขนมต้มจึงเป็นขนมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำเทศกาล ดังมีคำกล่าวว่า “เข้าษากินตอก ออกษากินต้ม” ขนมประเพณีประจำเทศกาลเข้าพรรษา คือ ข้าวตอก และขนมออกพรรษา คือ ขนมต้ม ที่ถือประชาชนปฏิบัติมาแต่โบราณ

ประเพณีตักบาตรเทโว จึงนับว่าเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนยังมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีคุณค่า เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างชาวบ้านกับวัดอีกด้วย







