
งานสื่อสารองค์กร มรภ.สงขลา ลงพื้นที่วิทยาเขตสตูล ถ่ายทำสารคดีทุ่งใหญ่สารภีโมเดล พาทัวร์ 8 ฐานการเรียนรู้ นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ซึมซับวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ดร.ศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ หัวหน้างานสื่อสารองค์กร นำทีมงานลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมชุมชนทุ่งใหญ่สารภีโมเดล ศูนย์เรียนรู้แห่งศาสตร์พระราชา ตั้งอยู่ใน มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล มีพื้นที่รวมกว่า 334 ไร่ และได้แบ่งสัดส่วนในการเปิดศูนย์เรียนรู้ขึ้นมาภายในมหาวิทยาลัย 13.50 ไร่ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้แหล่งใหม่ที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุนด้านการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนให้แก่ผู้สนใจ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรสมัยใหม่ ประกอบด้วย 8 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่

1. ฐานการบริหารจัดการพื้นที่รูปแบบ โคก หนอง นา หรือศาสตร์หลุมขนมครก คือ การบริหารจัดการน้ำโดยการเก็บกักไว้ในสวนไร่นาของตัวเอง เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร ดังนั้น ต้องมีปริมาณน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง 100% ตลอดทั้งปี
2. ฐานระบบโรงเรือนอัจฉริยะ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการในฟาร์มหรือในโรงเรือน เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนและเวลาที่จะต้องเสียไปกับการจ้างบุคคลากรในฟาร์มที่เป็นงานที่เพิ่มผลผลิตได้น้อย

3. ฐานการทำปุ๋ยหมักและการปรุงดินระบบอินทรีย์ เป็นการพัฒนาดินที่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรให้สามารถใช้ทำการเพาะปลูกให้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ตามปกติ หรือ ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชให้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีอย่างยั่งยืน หลักการปรับปรุงบำรุงดิน คือ การจัดการเพื่อทำให้ดินอยู่ในสภาพที่เหมาะสมสำหรับพืชที่ต้องการปลูก ในดินเดียวกันหากปลูกพืชต่างชนิดกัน อาจจะมีรายละเอียดของการปรับปรุงดินต่างกัน ดังนั้น ควรมีการตรวจสอบดินและวิเคราะห์ดินซึ่งจะนำไปสู่วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน
default default

4. ฐานการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ต้องทำรังไม้ตีประกบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ความสูงไม่ควรเกิน 45 ซม. หรือใช้ต้นไม้ที่เป็นโพรง ที่สำคัญคือ ต้องมีรูขนาดพอเหมาะให้ผึ้งโพรงบินเข้าออกได้สะดวก และต้องให้ผึ้งอาศัยอยู่เองตามธรรมชาติ อย่าไปรบกวนรังบ่อยนัก รักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมตามธรรมชาติ ไม่ตากแดดตากฝนตลอดทั้งวัน หากรังเลี้ยงผึ้งรังไหนที่มีรวงผึ้งเต็มแล้วนั้น สังเกตที่รูเข้าออกจะมีผึ้งบินออกมาอยู่นอกรังมากกว่าปกติ จึงเปิดฝาที่ปิดนั้นออก แล้วแกะหรือแคะรวงผึ้งที่ห้อยอยู่ภายในรังที่เลี้ยง ออกมาคั้นน้ำผึ้งไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายได้

5. ฐานธนาคารต้นไม้ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนปลูกไม้ตามแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ปลูกไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ขาย และ รักษาสิ่งแวดล้อม ในที่ดินของตนเองและชุมชน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับครอบครัวและชุมชน
6. ฐานการเลี้ยงปูดำระบบคอนโด เป็นการเลี้ยงปูทะเลที่ไม่ใช้บ่อดิน แต่นำกล่องพลาสติกมาเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงปูทะเล ทำแบบซ้อนชั้นเป็นคอนโดระบบปิด ที่สามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ การเลี้ยงแบบคอนโดระบบปิดสามารถมองเห็นปูและเลี้ยงได้ 100% ไม่มีสูญหายยากต่อการขโมย แต่ต้องให้เวลาและเอาใจใส่มากขึ้น ซึ่งเนื้อปูที่เลี้ยงจะให้ความหวานและสะอาด ต่างจากปูธรรมชาติที่เนื้อจะแน่นกว่า

7. ฐานนวัตกรรมด้านการเกษตร (ระบบให้น้ำในแปลงเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และระบบทุ่นลอยในการวัดคุณภาพน้ำแบบ real time) ระบบให้น้ำในแปลงเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นระบบการให้น้ำด้วยปั๊มน้ำหอยโข่ง ขนาด 2 นิ้ว 2 hp เชื่อมต่อด้วยแผงโซล่าเซลล์ขนาด 340 วัตต์ จำนวน 16 แผง สามารถสลับปั๊มการทำงานได้ตามความเหมาะสม ประโยชน์สามารถให้น้ำครอบคลุมบนพื้นที่การเกษตร 13.5 ไร่ โดยไม่มีต้นทุนค่าไฟฟ้า ลดต้นทุนแรงงานและประหยัดเวลาในการทำงาน ส่วนระบบทุ่นลอยฯ สามารถตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบ real time รายงานผล On-site ผ่าน Smartphone โดยสามารถวัดค่า pH, DO และอุณหภูมิ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นขับเคลื่อนระบบ ไม่มีค่าไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร
8. ฐานการอบแห้ง/แปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาการอบแห้งโดยใช้ตู้อบแห้งพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ มาทดแทนความร้อนจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าปกติ เป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าได้อย่างมาก ซึ่งความสิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่ายนับเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญที่สามารถกำหนดเรื่องผลการตอบแทนจากการประกอบการ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือลดต้นทุน ทำให้เกิดกำไรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้เวลาในการตากแห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ให้เร็วขึ้นกว่าการตากแดดโดยตรงแบบทั่ว ๆ ไป อาหารหรือผลผลิตที่ได้มีความสะอาดปลอดภัย ถูกหลักอนามัย ที่สำคัญ สามารถป้องกันแมลงโดยเฉพาะแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรคไม่ให้มารบกวน หมดห่วงเรื่องฝนตกแล้วจะเก็บผลผลิตที่ตากอยู่ไม่ทัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้วัตถุดิบไม่แห้งและเกิดความเสียหาย