วันเสาร์, 26 กรกฎาคม 2568

“คณะ วจก.” มรภ.สงขลา นำ นศ. “IPB University” อินโดนีเซีย เเลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนต้นแบบ จ.พัทลุงพร้อมมอบ “ข้าวหอมชลสิทธิ์ 2” ผลิตผลงานวิจัยให้กลุ่มข้าวอินทรีย์โคกม่วง

คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา นำนักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก “IPB University” ประเทศอินโดนีเซีย ศึกษาดูงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง พร้อมมอบข้าวเปลือก “ข้าวหอมชลสิทธิ์ 2” ผลิตผลจากงานวิจัยและรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองสงขลา ให้กลุ่มข้าวอินทรีย์โคกม่วง ยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 คณะวิทยาการจัดการ (วจก.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ผศ.ดร.ป้องศักดิ์ ทองเนื้อแข็ง คณบดีคณะวิทยาการจัดการ พร้อมด้วยคณาจารย์ เจ้าหน้าที่จากคณะวิทยาการจัดการ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการฯ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง (ครั้งที่2) ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

การลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา ได้นำนักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก IPB University (Bogor Agricultural University) ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 17 คน ร่วมทำกิจกรรมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ต.โคกม่วง และติดตามความก้าวหน้าในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งร่วมวางแผนการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในอนาคต ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น และให้คำแนะนำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออกสู่ตลาด นำไปสู่การมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น มรภ.สงขลา ยังได้นำข้าวเปลือก “ข้าวหอมชลสิทธิ์ 2” ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองสงขลาที่ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิจัย และรวบรวมสายพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่อง มอบให้แก่กลุ่มข้าวอินทรีย์โคกม่วง โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวธนวรรณ เมืองแก้ว รองนายกเทศมนตรีตำบลโคกม่วง และ นายวิทยา จายุพันธ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เข้าร่วมกิจกรรม ณ เทศบาลตำบลโคกม่วง

กิจกรรมในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/th/photo/2025072201

ข้อมูลและรูป โดย เพจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา