วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ผนึกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนฯ จัดงาน “ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ด้วย BCG MODEL” เฉลิมพระเกียรติพระพันปีหลวง

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา จับมือสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา จัดงาน “ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ด้วย BCG MODEL” เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษาพระพันปีหลวง สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา จัดงาน “ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ด้วย BCG MODEL” กับกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระพันปีหลวง “สงขลามหานครเกษตรอินทรีย์” มหกรรมเกษตรอินทรีย์ SDGsPGS เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2565 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา และวันที่ 25 เป็นวันรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ SDGsPGS ภายในงานมีการบรรยายพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การแข่งขันนำเสนอไอเดียเกษตรอินทรีย์ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วย BCG Model” นิทรรศการเกษตรอินทรีย์ การแสดงสินค้า งานวิชาการเกษตรอินทรีย์ และนวัตกรรมเกษตร

นอกจากนั้น ยังมีการสัมมนาเรื่อง การมีส่วนร่วมเกษตรอินทรีย์สงขลา โดย นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายสุชาติ เซ่งมาก สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสงขลา นายสนธิกาญจน์ วิโสจสงคราม ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดสงขลา นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา สัมมนาเรื่อง การทำเกษตรอินทรีย์ โดย นายอัคระ ธิติถาวร ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน นายนพดล แก้วมณี เกษตรกรบ้านหอมข้าวออร์แกนิคฟาร์ม นายชำนาญ มานิล เกษตรกรผู้จัดการศูนย์เรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา นายเจษฎาวุธ เพ็งลาย เกษตรกร ผู้จัดการฟาร์มฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านควนหรัน และ ดร.มงคล เทพรัตน์

                ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ทางคณะฯ ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เป็นการเพิ่มทักษะอาชีพการทำเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ใน ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา และ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ให้แก่เกษตรที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือน ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนดีขึ้น และชุมชนมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้กิจกรรมเกิดอย่างต่อเนื่องและการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลิตทางการเกษตร มีการเสริมรายได้จากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในนาอินทรีย์ การปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษเสริมรายได้ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อการจำหน่าย

                ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะเทคโนโลยีการเกษตรเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการ จึงได้ลงนามความร่วมมือกับสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร การเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่กัน สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาการงานด้านวิชาการ การดำเนินงานในพื้นที่/ชุมชน ร่วมพัฒนานักศึกษา รวมถึงการดำเนินงานด้านวิจัย การผลิตบัณฑิต ตลอดจนความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 3 ปี ในการลงพื้นที่ชุมชนของคณะเทคโนโลยีการเกษตร ปรากฏผลผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมที่น่าสนใจและเห็นควรนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงนำมาสู่การจัดทำโครงการมหกรรมเกษตรอินทรีย์เฉลิมพระเกียรติฯ อันเป็นการตอบสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS สงขลา