วันอังคาร, 5 พฤศจิกายน 2567

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา เปิดตัวสาขาวิชา “ประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม” หลักสูตรน้องใหม่จบใน 3 ปีครึ่ง รับสมัคร นศ. แล้ววันนี้

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา สุดปลื้ม สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม หลักสูตรใหม่ป้ายแดงผ่านการรับรอง อว.ฉลุย ชูจุดเด่นเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของประเทศที่บูรณาการประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อดิจิตัล เผยเรียนครบหน่วยกิตตามเกณฑ์จบได้ใน 3 ปีครึ่ง พร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาแล้ววันนี้

  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) รายงานว่า หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผ่านการพิจารณาความสอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา และรับทราบหลักสูตร จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรกรรม (สป.อว.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 พร้อมรับสมัครนักศึกษาปีการศึกษา 2565 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มีจุดเด่นในเรื่องเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของประเทศ ที่บูรณาการประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อดิจิตัล เข้าด้วยกัน

 ปรัชญาของหลักสูตร “เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม เพื่อการสื่อสารสังคม” โดยมุ่งหมายให้เป็นหลักสูตรที่เน้น Hybrid Skill เชื่อมโยงสิ่งใหม่ผสานเข้ากับทักษะประวัติศาสตร์ที่เป็นฐานเพื่อเพิ่มคุณค่า บูรณาการองค์ความรู้ ก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญใหม่ บัณฑิตที่หลักสูตรฯ ผลิตจะมีทักษะที่ผสมผสานแบ่งออกเป็น 1. Hybrid Technical ซึ่งมีทั้งข้อมูลประวัติศาสตร์ (Historical Data) และสามารถใช้วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Computer Science & I.T.)  2. Hybrid Creative & Power Skills ประยุกต์องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไปสู่การสร้างสรรค์ต่อยอดเพื่อการสื่อสารกับสังคมในมิติ/แพลทฟอร์มต่าง ๆ ก่อให้เกิดหลักสูตรความรู้แบบบูรณาการที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจ-สังคมไทยและนานาชาติ

การพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม ตอบสนองยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ดังที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นิยามว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พัฒนาหลักสูตรโดยอาศัยศักยภาพของบุคลากรในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความร่วมมือทางวิชาการกับสาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เน้นการบูรณาการศาสตร์ระหว่างประวัติศาสตร์กับศาสตร์อื่นที่จำเป็น สำหรับสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ตลาดแรงงาน ยุทธศาสตร์จังหวัดสงขลา และยุทธศาสตร์ชาติ

 สำหรับอาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา ได้แก่ 1. นักสร้างสรรค์เรื่องราว (Content Creator)  2. ยูทูบเบอร์ (Youtuber) 3. นักสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum Creator) 4. ภัณฑารักษ์ (Museum Curator / Storekeeper) 5. ผู้นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ (Historical Park Tour Guide) 6. นักออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ (Board Game Designer) 7. นักจัดกิจกรรมอีเวนท์ (Event Organizer) 8. นักเขียน (Author / Writer) 9. ผู้เขียนบท (Screenwriter / Scenarist / Playwright) 10. สื่อมวลชน (Mass Communication) 11. ผู้ทรงอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ (Influencer) 12. มัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก (Cultural Heritage Specialist Guide) 13. นักประวัติศาสตร์ (Historian)