วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ชนะเลิศประกวดนวัตกรรมยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ภาพสะท้อนความสำเร็จโมเดลพัฒนาท้องถิ่น ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล

ความสำเร็จของโมเดลการพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชน ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ผลงานคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศประกวดนวัตกรรมการยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เวทีราชภัฏบุรีรัมย์มหกรรมวิชาการและวัฒนธรรมนานาชาติ ครั้งที่ 6 ถือเป็นภาพสะท้อนการทำหน้าที่ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ บนวิถีแห่งศาสตร์พระราชา คือเคล็ดไม่ลับที่นำมาสู่รางวัลในครั้งนี้

จากงานราชภัฏบุรีรัมย์มหกรรมวิชาการและวัฒนธรรมนานาชาติ ครั้งที่ 6” The 6th Buriram Rajabhat International Conference and Cultural Festival 2023 (BRICC Festival 2023) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย ดร.โชติกา รติชลิยกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ น.ส.นุสรา ชุมแสง  เจ้าหน้าที่งานบริการวิชาการ ได้ร่วมนำเสนอผลงานการประกวดนวัตกรรมการยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “การพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล” ผลปรากฏว่า ผลงานของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่ง ดร.รัชชพงษ์ ได้เข้ารับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เวทีราชภัฏภิรมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ดร.รัชชพงษ์ เล่าว่า นวัตกรรมการพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยกระบวนการวิจัยเพื่อประเมินศักยภาพชุมชน พบว่าชุมชนมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ทำเลที่ตั้งชุมชนอยู่ใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการในการพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวชุมชน มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และจังหวัดสตูลมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน

จากนั้นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้วางแผนและดำเนินงานร่วมกับชุมชน โดยได้รับงบประมาณจากยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย โดยได้มีการสร้างความรู้ให้แก่ชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการชุมชนในการพัฒนาสินค้าและผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 8 กลุ่ม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนทางธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมให้มีศักยภาพพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังถ้ำทะลุและตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค ตลอดจนพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้มีมีศักยภาพพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการเรียนรู้และข้อเสนอแนะจากการพัฒนานวัตกรรม ประเด็นที่ 1 สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการรับรู้และการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภารกิจด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่จำเป็นต้องอาศัยสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดการให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด ประเด็นที่ 2 การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึก “ความเป็นเจ้าของ” ตั้งแต่กระบวนการวางแผนและกระบวนการต่างๆ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ชุมชนสามารถดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เกิดความสำเร็จ ประเด็นที่ 3 การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องอาศัยวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”โดย 1. การเข้าใจ คือ การสร้างให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลทุกมิติของชุมชน ค้นหารากของปัญหา 2. การเข้าถึง คือ การสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วม มุ่งสร้างความเข้าใจและมั่นใจกับชุมชน ด้วยการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนามากที่สุด และ 3. การพัฒนา คือ การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตามศักยภาพชุมชน

“ขอขอบพระคุณ รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ตลอดจนผู้บริหารทุกท่านที่ให้การสนับสนุนพวกเราอย่างเต็มที่เสมอมา และขอบคุณทีมงานมนุษย์มด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนมากว่า 4 ปี ขอบคุณชาวตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่เชื่อมั่นในการทำงานของพวกเราตลอดระยะเวลา 4 ปี เรารักและผูกพันเหมือนคนในครอบครัว ความสำเร็จในครั้งนี้คือรางวัลของพวกเราทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามปณิธานมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ เหล่า“มนุษย์มด” ในการเดินหน้าพัฒนาท้องถิ่นอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยพลังและการสนับสนุนจาก มรภ.สงขลา ที่จะเดินเคียงข้างท้องถิ่นตลอดไป