วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

คณะครุฯ มรภ.สงขลา ผนึก 8 สถาบันเครือข่ายฯ จัดค่ายครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

คณะครุศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จับมือมหาวิทยาลัยเครือข่ายสถาบันผลิตครูภาคใต้ตอนล่าง 8 สถาบัน จัดกิจกรรมค่ายครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Summer Camp) ในรูปแบบออนไลน์ มุ่งส่งเสริมศักยภาพเชิงวิชาการและวิชาชีพนักศึกษา หล่อหลอมจิตวิญญาณความเป็นครู

ผศ.ดร.ศรุติพงศ์ ภูวัชร์วรานนท์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า คณะครุศาสตร์จัดกิจกรรมค่ายครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Summer Camp) สำหรับนักศึกษาโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รหัส 61 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ระหว่างวันที่ 14-15 และ 21-22 สิงหาคม 2564 โดยดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายสถาบันผลิตครูภาคใต้ตอนล่าง 8 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา และวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในการสังเคราะห์องค์ความรู้ ถอดบทเรียนการทำงานในฐานะครู นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนตลอดจนการทำงานของครูในยุคปัจจุบัน ทั้งยังเป็นช่องทางสำหรับอาจารย์นิเทศก์ได้ประเมินสมรรถนะครูนักวิจัยของนักศึกษาฝึกปฏิบัติการสอนร่วมกับหน่วยฝึกสอนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้และสมรรถนะตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพในการพัฒนาท้องถิ่นตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์

กิจกรรมค่ายครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Summer Camp) ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาและบรรยายพิเศษ “ครูคืนถิ่นกับการพัฒนาบ้านเกิด” นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายพิเศษ “จิตวิญญาณความเป็นครู” โดย ผศ.ดร.ศรุติพงศ์ ภูวัชร์วรานนท์ คณบดีคณะครุศาสตร์ และ บรรยายพิเศษ “ความเป็นครู : ปัญหาและทางออก” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดร.ธีรพงศ์ แก่นอินทร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี รศ.ดร.ทัศนา  ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด 

ผศ.ดร.ศรุติพงศ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 วัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครูในสถาบันฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิลำเนาของตนเอง โดยกำหนดเป้าหมายดำเนินการระหว่าง ปี พ.ศ. 2559-2570 เพื่อส่งมอบครูใหม่ที่มีคุณภาพให้แก่องค์กรผู้ใช้ครู จำนวน 47,390 คน โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจึงเป็นการลงทุนจากทางภาครัฐ ที่มุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการนำร่องในการปฏิรูประบบการผลิตครู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างครูคุณภาพสูง ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ นำไปสู่การจัดการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ได้มาตรฐานสากลโดยมีตัวชี้วัด ได้แก่ คะแนนผลสอบ O-NET และ PISA ที่เพิ่มขึ้น มีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 และรองรับประเทศไทย 4.0 จึงมีความคาดหวังว่าครูเหล่านี้จะเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาของประเทศที่จะเห็นผลได้อย่างชัดเจน

ด้าน อาจารย์ ดร.ภูวเดช อินทเรือง รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิชาการ คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า คณะครุศาสตร์ดำเนินการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนานักศึกษาครูในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานเครือข่ายสถาบันผลิตครูภาคใต้ตอนล่าง ร่วมกับ 8 สถาบันเครือข่าย ซึ่งตามเงื่อนไขข้อตกลงจากหลักการดังกล่าวข้างต้น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผู้รับผิดชอบโครงการจึงกำหนดให้สถาบันผลิตครูเครือข่ายสถาบันฝ่ายผลิตครูเชิงพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค ต้องทำงานร่วมมือกันในลักษณะเบญจภาคี ประกอบด้วย 1. สถาบันผลิตครู 2. เครือข่ายสถาบันผลิตครูในแต่ละภูมิภาค 3. ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 4. สถานศึกษา และ 5. ชุมชนที่ร่วมกันออกแบบกำหนดวิธีการในการพัฒนานักศึกษาผู้ที่รับทุนตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในสถาบันผลิตครู เป็นการสร้างครูที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ สถาบันผลิตครูจะต้องออกแบบกิจกรรมที่จะหล่อหลอมจิตวิญญาณความเป็นครูให้แก่นักศึกษา โดยมีทั้งกิจกรรมในสถาบันผลิตครูทั้งในและนอกชั้นเรียน กิจกรรมร่วมกันในเครือข่าย ซึ่งกระบวนการผลิตครูครูแนวใหม่นี้จะต้องเป็นการส่งเสริมศักยภาพเชิงวิชาการและวิชาชีพ สร้างสรรค์ชุมชนวิชาชีพนักศึกษาครูเพื่อการเรียนรู้ (PLC) ตั้งแต่ในระหว่างศึกษาและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางสังคมของกลุ่มนักศึกษาครู เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นฐานกำลังเชิงวิชาการที่มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษาครูในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยเน้นการสังเคราะห์องค์ความรู้ การถอดบทเรียนการทำงานในฐานะครู นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนตลอดจนการทำงานของครูในยุคปัจจุบัน