วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

คชก. ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ กฟผ. จ.ชัยภูมิ นำข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เข้าตรวจสอบพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลโครงการฯ

นายพงษ์พันธ์ กรวยทอง ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. นายณัฐ เทภาสิต หัวหน้าโครงการสำรวจและศึกษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ กฟผ. พร้อมด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา ให้การต้อนรับ นายสันติ บุญประคับ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คชก. และคณะ เข้ารับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงาน โรงไฟฟ้าละตำคองชลภาวัฒนา เขื่อนจุฬาภรณ์ และผลการศึกษา EIA โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงาน EIA และเข้าตรวจสอบพื้นที่ดำเนินโครงการฯ เช่น บริเวณที่จะใช้ก่อสร้างอุโมงค์ชักน้ำ บริเวณพื้นที่จัดการวัสดุจากการการขุด สภาพพื้นที่ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ของโครงการฯ ทั้งนี้ คชก. ได้ให้ข้อสังเกตว่า พื้นที่โครงการฯ อยู่ในพื้นที่ของ กฟผ. ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อยู่แล้วหากมีกิจกรรมการก่อสร้างใดที่ช่วยลดระยะเวลาและงบประมาณ ก่อสร้างก็สามารถดำเนินการในส่วนที่จำเป็นได้ โดยต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษา และ กฟผ. ได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุง เมื่อวันที่ 7 – 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

นายณัฐ เทภาสิต กล่าวว่า กฟผ. เล็งเห็นศักยภาพความเหมาะสมบริเวณพื้นที่เขื่อนจุฬาภรณ์ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำไฟฟ้าที่เหลือจากระบบผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อยมาใช้สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่าง (เขื่อนน้ำสุ) ที่ก่อสร้างใหม่ ขึ้นไปเก็บพักไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน (อ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์) ที่มีอยู่เดิม และในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละวัน จะปล่อยน้ำลงมาผ่านกังหันน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งเข้าระบบ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับยังทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่พลังน้ำขนาดใหญ่ที่ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอ่างเก็บน้ำตอนล่างยังสามารถกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง ช่วยให้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำพรม-เชิญมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการจัดการชลประทานลุ่มน้ำพรม-เชิญ เช่นเดิม

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการฯ ของ คชก. เป็นการปฏิบัติงานตามขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ โดย คชก. จะรวบรวมความเห็นที่ได้จากการตรวจสอบนี้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ หากได้รับความเห็นชอบ จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรีต่อไป