วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

“วนก.” มรภ.สงขลา ติวเทคนิคสอบ CEFR ช่วยครูเลื่อนวิทยฐานะ

วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูลจัดอบรมเทคนิคการสอบ CEFR ระดับ B2+ หวังช่วยพัฒนาศักยภาพภาษาอังกฤษครูและบุคลากรทางการศึกษา เตรียมพร้อมก้าวสู่การขอเลื่อนวิทยฐานะ

ดร.อัญชสา สีนวนแก้ว รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ (วนก.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง  “เทคนิคการสอบ CEFR ระดับ B2+ สำหรับครูเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ” ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีความประสงค์จะทดสอบภาษาอังกฤษ CEFR โดยเปิดรับกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าอบรมจำนวน 100 คน แต่ปรากฏว่าภายในระยะเวลา 1 ชม. ที่เปิดรับสมัคร มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมอบรมมากถึง 280 คน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การขอเลื่อนวิทยฐานะ ที่สอดรับกับการลดเงื่อนไขการลดระยะเวลาโดยใช้ผลสอบ CEFR ไม่ต่ำกว่าระดับ B2 ส่งผลให้มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาอาชีพของตนเอง นำไปสู่ป้าหมายสูงสุดในการยกระดับมาตรฐานของผู้เรียน โดยการอบรมในครั้งนี้มี ดร.เอกพล ไพโรจน์ อาจารย์ วนก. มรภ.สงขลา เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ รู้จักกับ CEFR และ เทคนิคการทำข้อสอบ CEFR    

  ดร.อัญชสา กล่าวว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2561-2565) มุ่งเน้นกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน โดยกิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับการให้ข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาได้พัฒนาความรู้และทักษะให้เกิดสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับปรุงด้านกลไก และระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ

 ดังนั้น ครูจำเป็นต้องมีสมรรถนะทางวิชาชีพครู (Teaching Professional Competency) เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนาครูให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในด้านการเรียนการสอนแก่นักเรียนนั้น แนวทางพัฒนาที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาไม่ได้เพื่อครูเท่านั้น หากเป็นคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะครูเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาผู้เรียน หากครูมีความรู้ ทักษะ ความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษดีมากพอ ย่อมส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพผู้เรียนด้วยเช่นกัน