วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2567

รมว.อว. พร้อมต่อยอด”ศิลปะและวัฒนธรรมนำชีวิต กล่อมเกลาจิต สร้างสรรค์ชีวิต และสังคม” ภาคใต้สู่ระดับโลก

 13 ธันวาคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ โครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติ “ศิลปะและวัฒนธรรมนำชีวิต กล่อมเกลาจิต สร้างสรรค์ชีวิต และสังคม” ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา เกาะยอ อ.สงขลา จ.สงขลาสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ภารกิจด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมภาคใต้และประเทศไทย  ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานเกิดมรรคผลต่อบุคคล สังคม และประเทศชาติอย่างยิ่ง เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสและดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนาการธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า การรักษาศิลปะวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ  

ในโอกาสนี้ ศ .(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ โครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติ “ศิลปะและวัฒนธรรมนำชีวิต กล่อมเกลาจิต สร้างสรรค์ชีวิต และสังคม” กล่าวว่า การรักษาศิลปวัฒนธรรมเป็นการรักษาชาติ คำกล่าวนี้เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมมีความยินดีที่มาร่วมในงานวันนี้ ขอชื่นชมสถาบันทักษิณคดีศึกษา ขอชื่นชมมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งการมาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ผมได้มีโอกาสไปตรวจเยี่ยมทั้งวิทยาเขตพัทลุงและวิทยาเขตสงขลา ผมได้เล็งเห็นว่า ม.ทักษิณ มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางสังคม สถาบันทักษิณคดีศึกษาเป็นสถาบันแนวหน้าที่มีการศึกษาทางด้านโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ผมหวังว่าในอนาคต มหาวิทยาลัยทักษิณและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สนใจจะเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันโครงการและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญร่วมกับวิทยาสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ หรือเรียกว่า ธัชชา ของ อว. ซึ่งเราศึกษาโบราณคดีประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ย้อนไปสู่ยุคสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้มีบทบาทสูงขึ้น ผมขอเชิญชวนนักปราชญ์ นักวิชาการหรือบุคลากรในแวดวงการศึกษา มาช่วยกันคิด ช่วยกันริเริ่ม ช่วยกันทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยกลายเป็นวัฒนธรรมระดับโลกและไม่สูญหายไปกับกาลเวลา รวมทั้งมหาวิทยาลัยทักษิณ มีศักยภาพที่จะทำการศึกษา วิจัย สร้างสรรค์เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เกี่ยวกับอารยธรรมโบราณและทุกๆอย่างที่เป็นของไทย และพยายามอธิบายให้ได้ว่า ทำไมเราถึงมีมรดกทางวัฒนธรรมสูงขนาดนี้และนำมาถอดเป็นบทเรียนและเผยแพร่ต่อไป

นอกจากการปาฐกถาพิเศษ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) ยังมีการเสวนาวิชาการ “ศิลปะและวัฒนธรรมนำชีวิต ” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กวีซีไรต์ และศิลปินแหง่ชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ นำเสวนา

อีกทั้ง การเสวนาวิชาการ “ศิลปะและวัฒนธรรมกับสังคมและการปกครองของไทย” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธุ์ชูเพชร นักวิชาการอิสระ อาจารย์จรูญ หยูทอง นักเขียนและนักวิชาการอิสระ นายบัญชร  วิเชียรศรี ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา และ ดร.บรรจง  ทองสร้าง ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา นำเสวนา ในครั้งนี้