วันพฤหัสบดี, 31 ตุลาคม 2567

ม.ทักษิณ เปิดการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) ระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) เฟ้นหา 5 ทีม สุดยอดแนวคิดนวัตกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เป็นตัวแทนภาคใต้ตอนล่างเข้าชิงชัยระดับประเทศ

มหาวิทยาลัยทักษิณ  โดยสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน  จัดกิจกรรมการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) ระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล  (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ณ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  ระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2564 โดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นางปราณี รัตนประยูร เป็นประธานเปิดงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเลือกจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) ซึ่งการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) ในครั้งนี้  ถือเป็นโอกาสที่ดีของคนในจังหวัดพัทลุงและในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างทั้ง 7 จังหวัดที่จะได้ร่วมกันนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่จริงมาเสนอแนวทางการแก้ปัญหาร่วมระดมสมอง ร่วมแลกเปลี่ยน และหาแนวทางสำหรับนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงแนวคิด เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับนำไปใช้ปฏิบัติจริงในชุมชน คาดหวังว่าจังหวัดพัทลุงคงจะมีนวัตกรรมใหม่ หรือแนวทางใหม่ ที่เป็นประโยชน์หลังจากสิ้นสุดโครงการนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะเป็น 1 ใน 5 ทีมที่ดีที่สุดระดับประเทศ สำหรับ 5 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) ได้แก่

1.ทีม palm packaging จาก  มหาวิทยาลัยทักษิณ   

2.ทีม กระถางต้นไม้จากขุยมะพร้าว จาก  มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

3.ทีม ไข่มุกจากแป้งสาคู ต.โคกเคียน  จาก  มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 

 4.ทีม แม่ลาน FRESHMART   จาก  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

และ 5.ทีม Sayo Bana    จาก  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยการจัดการแข่งขันแฮกกาธอน (Hackathon) นั้น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้กำหนดขึ้นภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)  และได้มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษา 8 เครือข่ายทั่วประเทศดำเนินการจัดแข่งขันระดับภูมิภาค โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับการจ้างงานระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน (Community-integrated Learning) และนำเสนอผลการเรียนรู้ภายใต้โจทย์ “แนวทางแก้ปัญหา (Solution) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) Creative Economy 2) Technology/Health Care 3) Circular Economy และ 4)Art and Culture

 ซึ่งการแข่งขันแฮกกาธอน (Hackathon) ระดับภูมิภาค (ภาคใต้ตอนล่าง) มีทีมที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 147 ทีม โดยคณะกรรมการตัดสินรอบคัดเลือกได้ดำเนินการคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในระดับภูมิภาคภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 40 ทีม ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ในประเด็นการนำเสนอภายใต้โจทย์ “แนวทางแก้ปัญหา (Solution) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก”ประกอบด้วย 1)Creative Economyจำนวน 24 เรื่อง 2) Circular Economyจำนวน 13 เรื่อง 3) Technology/Health Care จำนวน 3 เรื่อง  สำหรับสุดยอด 5 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของระดับภูมิภาค(ภาคใต้ตอนล่าง) จะได้รับเงินรางวัล ทีมละ 50,000 บาท พร้อมโล่เชิดชูเกียรติ เพื่อนำแนวทางการพัฒนา ในรูปแบบไอเดียไปทดลองทดสอบในพื้นที่จริง ภายใต้คำแนะนำของพี่เลี้ยงและผู้นำชุมชน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อพัฒนาเป็น “ตัวต้นแบบ” หรือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนเข้าสู่การเฟ้นหา 5 สุดยอดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในการแข่งขันระดับประเทศ ในเดือน พ.ย.2564 ชิงเงินรางวัลสนับสนุนทีมละ 100,000 บาทพร้อมรับโล่เชิดชูเกียรติเพื่อต่อยอดและพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมชุมชนต่อไป