วันจันทร์, 2 ธันวาคม 2567

ม.ทักษิณ จัดเสวนาออนไลน์ สะท้อนเสียงของผู้เรียนยุคใหม่ ต่อรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปอันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19

วันที่ 21 สิงหาคม 2564 เพจ We TSU ได้นำเสนอการเสวนาในประเด็น สะท้อนคิด ชีวิตผู้เรียนยุคใหม่ – Voice from the Bottom Up : Learning amid COVID-19 ซึ่งเป็นการเสวนาใน Series แรก ของการเสวนา : ภูมิทัศน์ใหม่การจัดการเรียนรู้ในยุคโควิด-19 – The Changing Landscape of Education: Learning amid COVID-19 ผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้เรียนชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา ดำเนินรายการโดย นางสาวชนิกานต์ พุ่มไชย สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้สะท้อนแนวคิดชีวิตผู้เรียนยุคใหม่อย่างหลากหลาย ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์  และแนวคิดที่เสนอให้มีการหยุดเรียน 1 ปี เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย และความต้องการของผู้เรียนที่สะท้อนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำมาพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการปรับแก้ไขการจัดการศึกษาในระยะต่อไปสำหรับแนวคิดของแต่ละคนมีดังนี้  

ด.ญ.วรัญญา บัวศรี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลสงขลา จังหวัดสงขลา กล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ว่า “การเรียนออนไลน์ทำให้สะดวกสบายขึ้นไม่ต้องเร่งรีบกับการตื่นนอนเพื่อแต่งตัวไปโรงเรียน การตรวจงานก็ไม่เข้มข้นเหมือนการเรียนในห้องเรียน แต่เราต้องรู้จักแบ่งเวลา ต้องรู้ว่าเวลาใดทำอะไรและแบ่งเวลาสำหรับการเรียนออนไลน์ให้ชัดเจน อีกทั้งช่วยประหยัดเงิน ประหยัดเวลาในการเดินทาง แต่มีปัญหาคือ ความกระตือรือร้นในการเรียนของผู้เรียน และครูจะเร่งสอนโดยไม่คำนึงถึงผู้เรียนเนื่องจากมีระยะเวลาจำกัด และในส่วนที่เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อแนวคิดที่จะให้มีการหยุดเรียน 1 ปี คิดว่า การหยุดเรียนอาจจะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น แต่ผู้เรียนจะไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่  และขอส่งกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ทุกคน ขอให้สู้และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”

 ด.ญ.พลอยกาญจน์ ศรีน้อย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสำนักสงฆ์ศรีวิชัย อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

สะท้อนแนวคิดกล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ว่า “การเรียนการสอนออนไลน์ผู้เรียนต้องมีความกระตือรือร้น ต้องอ่านหนังสือก่อนที่จะมีการเรียน ต้องตั้งใจเรียนและมีสมาธิเนื่องจากเป็นการเรียนออนไลน์ และเมื่อมีปัญหาก็ต้องสอบถามคุณครูอาจจะสอบถามในไลน์ส่วนตัว แต่ปัญหาที่มักจะเกิดจากการเรียนการสอนออนไลน์คือ ผู้เรียนไม่มีความพร้อมของผู้เรียน  ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียน หรือเทคโนโลยีที่จะนำมาเรียน และปัญหาของผู้ปกครองที่ไม่มีเวลา เสียสุขภาพ สายตาเสื่อมเพราะต้องนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ ควรจะหาแว่นตามาใส่ป้องกัน ในขณะเดียวกันการเรียนออนไลน์มีข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่าย ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในเรื่องของค่าอินเทอร์เน็ต ส่วนแนวคิดที่จะให้มีการหยุดเรียน 1 ปี คิดว่าการหยุดเรียนจะเป็นผลดีกับบางคนและไม่เป็นผลดีกับบางคน บางคนที่มีอุปกรณ์พร้อมเพรียงก็จะมีเวลาสำหรับการศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องคนกลุ่มนี้ก็จะมีวิธีการในการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องต่อไป แต่สำหรับคนที่ไม่มีอุปกรณ์ คนเหล่านี้ก็จะไม่มีโอกาสในการหาความรู้ การทิ้งการเรียนไปนาน ๆ ยิ่งจะทำให้ห่างหายจากความรู้และหลงลืมเนื้อหาได้ ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขอส่งกำลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคน สู้ ๆ คะ”

นางสาวกัญญารัตน์ หนูวิไล  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนควนเนียงวิทยา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า “แนวคิดต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ คิดว่า ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รูปแบบและวิธีการสอนของคุณครูแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจจะใช้วิธีการบรรยายผ่านไลฟ์สด และอาจจะมีการทดสอบด้วยกระบวนการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงเรียน ส่วนแนวคิดที่จะให้มีการหยุดเรียน 1 ปี คิดว่า โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างจะกังวลกับการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งอาจจะมีคุณภาพไม่เป็นไปตามคาดหวัง ดังนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถ้ายังคงมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ก็จะหยุดเรียนก่อน เนื่องจากคณะที่จะเข้าเรียนในอนาคตจำเป็นต้องใช้การปฏิบัติงานเป็นสำคัญ การที่เราจะหยุดเรียนก่อน 1 ปี เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายแล้วค่อยหาโอกาสไปเรียนต่อจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ดีกว่าทนเรียนออนไลน์แบบไม่มีคุณภาพ และไม่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน แต่สำหรับบางคนการหยุดเรียน 1 ปี อาจจะทำให้โอกาสในการเรียนของพวกเขาหายไป หรือหลุดออกจากระบบการศึกษา เรื่องเหล่านี้มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนด้วย และสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ มีกำลังใจที่เข้มแข้งพร้อมที่จะต่อสู้ต่อไปคะ”

นายพงศ์พัทธ์ คงศรีสมบัติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จังหวัดพังงา สะท้อนแนวคิดกล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ว่า “การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมและความทั่วถึงของการเรียนออนไลน์ เนื่องจากบางครอบครัวไม่มีความสามารถที่จะเข้าถึงการเรียนในรูปแบบออนไลน์ อาจจะเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านการเงิน มีบุตรหลายคนและทุกคนต้องเรียนออนไลน์พร้อมๆ กัน อุปกรณ์ไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตไม่พร้อมใช้งานเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรืออยู่ในชนบทที่อาจจะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตน้อย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อผู้เรียนให้เกิดความเครียดและไม่พร้อมที่จะเรียน  ดังนั้นคิดว่ารูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ ทุกคนมีโอกาสเรียนได้จริงแต่ไม่เท่าเทียม เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นผู้มีบทบาทต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ต้องมีมาตรการที่จะรองรับให้เพียงพอ และมองว่าการเรียนเปลี่ยนไปแต่หลักสูตรยังคงใช้แบบเดิม เปลี่ยนเพียงรูปแบบของการเรียน ดังนั้นเมื่อรูปแบบการเรียนการสอนปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาก็ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม  สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ผู้ที่จะมีบทบาทมากคืออาจารย์แนะแนว เพราะจะคอยแนะนำ แก้ปัญหาและตอบข้อสงสัยผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม ส่วนตัวคิดว่าการเรียนการสอนออนไลน์ไม่เหมาะกับวิชาปฏิบัติ และเนื่องจากการเรียนการสอนออนไลน์ผู้เรียนต้องใช้สมาธิอย่างมากจึงไม่เหมาะกับกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเด็กเล็ก ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น เพราะเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีสมาธิในการเรียนน้อย จะเหมาะกับผู้เรียนระดับอุดมศึกษา เพราะมีสมาธิมากกว่า ที่สำคัญการเรียนการสอนออนไลน์ผู้สอนจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนแนวคิดที่จะให้มีการหยุดเรียน 1 ปี นั้น ขอฝากถึงหน่วยงานที่มีบทบาทต่อการจัดการเรียนการสอน ต้องให้การสนับสนุนอย่าปล่อยปละละเลยให้คุณครูต้องเผชิญกับปัญหาตามลำพังกับผู้เรียน  เมื่อหยุดเรียน 1 ปี แล้ว คิดหรือว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนตัวมองว่าการหยุดเรียนเท่ากับหยุดโอกาส ทำให้เสียโอกาส แม้ว่าจะเรียนออนไลน์แต่ถ้ามีกระบวนการที่เป็นระบบคอยสนับสนุนและมีการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบใดระบบหนึ่งถ้าหายไปก็จะส่งผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ที่เหลือทันที ดังนั้นจะเรียนออนไลน์ หรือเรียนออนไซต์ สำคัญทั้งหมดอยู่ที่ตัวเราเอง สุดท้ายขอฝากไว้ว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้เราได้มีโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ มีเทคนิคในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มากมายอยู่ที่เราจะกระตือรือร้นกับการขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวมากน้อยเพียงใด การเรียนออนไลน์ทำให้เราสามารถเรียนรู้และเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ตลอดชีวิต”

นายรัฐนันท์ บุญแก้ว วิชาเอกคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า “ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณจัดการเรียนการสอนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้เรียนต้องระวังเรื่องสุขภาพ สายตา และความเครียด อันอาจเกิดจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์ ความกังวลเกี่ยวกับคะแนน ซึ่งอาจจะแก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนบรรยากาศของการเรียนการสอนให้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ใช้วิธีการถาม-ตอบ หรือ Open chat ส่วนปัญหาที่จะเกิดจากการเรียนการสอนออนไลน์คือสัญญาณหาย เรียนไม่ทัน แก้ไขได้โดยการลองฝึกปฏิบัติก่อนการเข้าเรียน เมื่อมีการเรียนออนไลน์ก็จะทำให้เรียนได้ง่ายขี้น เข้าใจมากขึ้น สิ่งสำคัญคือผู้เรียนต้องปรับทัศนคติที่ดีต่อการเรียนออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพร้อมในการเรียน และก่อนเรียนต้องจัดการกับตัวเองให้เรียบร้อยจะได้มีสมาธิกับการเรียนเต็มที่  จดบันทึกและสรุปสาระสำคัญในการเรียนแต่ละวัน หมั่นทบทวนและขวนขวายหาความรู้จากแหล่งความรู้ใหม่ ๆ ทบทวนความรู้ในแต่ละประเด็นให้เข้าใจ ส่วนครูต้องเข้าใจว่าผู้เรียนแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน ต้องมีกลวิธี ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนออนไลน์และต้องหมั่นสังเกตผู้เรียนโดยดูจากพฤติกรรมที่แสดงออกในการเรียนออนไลน์  อาจาย์หลายท่านอาจจะไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จึงควรปรับให้มีวิธีการที่จะสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ส่วนนักเรียนอาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ และการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องเยียวยาให้เหมาะสม  แนวคิดที่จะให้มีการหยุดเรียน 1 ปี คิดว่าการให้หยุดเรียน 1 ปี เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ? ความพร้อมหรือไม่พร้อม การตัดสินใจใช้มาตรการหยุดเรียน 1 ปี โดยอ้างเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มองว่าไม่แฟร์กับบางคนที่มีความตั้งใจและทุ่มเทกับการเรียน หยุดเรียนได้ แต่อย่าหยุดที่จะเรียนรู้สุดท้ายแล้วอนาคตของการศึกษาก็จะอยู่ที่ครูและนักเรียน  ขอให้คิดว่าเหตุการณ์วิกฤตในครั้งนี้ไม่ใช่ประสบกับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ประสบกับเราทุก ๆ คน เราอาจจะหยุดพักได้ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยกลับมาสู้กันต่อไป ขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้”