วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

ม.ทักษิณ จัดเสวนาภูมิทัศน์ใหม่การจัดการเรียนรู้ในยุคโควิด-19 ระดมความคิดตามติดชีวิตครูยุคใหม่

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณจัดเสวนาภูมิทัศน์ใหม่การจัดการ เรียนรู้ในยุคโควิด-19  The Changing Landscape of Education : Learning amid COVID-19 ตอนตามติดชีวิตครู ON… (ON-SITE) (ON-AIR) (ON-LINE) (ON-DEMAND)  ในวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 ตั้งแต่เวลา 19.00 น. ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting รับสัญญาณถ่ายทอดผ่านเพจ WE TSU โดยมีวิทยากร คุณครูสาธิต วรรณพบ โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จังหวัดพังงา, คุณครูชญานี ขัตติยะมาน โรงเรียนอนุบาลสงขลา จังหวัดสงขลา,คุณครูฒามรา พรหมหอม โรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา ,คุณครูวิสุทธิ์ คงกัลป์ โรงเรียนควนเนียงวิทยา จังหวัดสงขลาคุณครูสุมณฑา เอมเอก โรงเรียนเทศบาล ๕ (วัดหัวป้อมนอก) จังหวัดสงขลา ดำเนินรายการโดยอาจารย์ ธีรยุทธ์ เกณบุตร คณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นการจัดเสวนาครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นการจัดเสวนาออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนเสียงของผู้เรียนยุคใหม่ ต่อรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปอันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดและแชร์ประสบการณ์ของคุณครูต่อรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป แนวคิดและทัศนคติต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองใหม่และเพื่อนครูจะได้มีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้หลากหลายมากขึ้น

การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่ด้านการเรียนการสอนจากเดิมที่สอนปกติในห้องเรียนเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (COVID-19) เกิดขึ้นรูปแบบการเรียนจึงปรับเปลี่ยน ส่งผลต่อกระบวนทัศน์ของครูที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดของครูต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันจะมีวิธีการอย่างไร?

คุณครูสาธิต วรรณพบ โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จังหวัดพังงา กล่าวว่า การเรียนในห้องเรียนคุณครูจะเห็นและสังเกตุพฤติกรรมของนักเรียนได้ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ เด็กนักเรียน กับคุณครู ต่างคนต่างอยู่จะมาเจอกันเฉพาะในโลกออนไลน์ ปัญหามีแน่นอนโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการใช้เครื่องมือ ครูไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ใหม่ ๆ ส่วนเด็กก็อาจจะไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนในรูปแบบออนไลน์ หรือถ้ามีก็ไม่คุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์ออนไลน์ ดังนั้นทั้งครู และนักเรียนจึงต้องปรับแนวคิด วิเคราะห์ และประเมินสถานการ์ได้

คุณครูฒามรา พรหมหอม โรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิธีการที่ครูจะเลือกใช้เทคโนโลยี จะใช้เทคโนโลยีอย่างไร? การรับมือ ปรับแผน และเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ และใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ให้เป็นจึงสำคัญ การจัดการอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การทำใจให้ยอมรับ เราจะสามารถอยู่กับสถานการณ์เช่นนี้ได้ ส่วนในเรื่องของการปรับตัว คุณครูชญานี ขัตติยะมาน โรงเรียนอนุบาลสงขลาจังหวัดสงขลากล่าวเพิ่มเติมว่า ครูต้องมีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา โดยวิธีการเข้ารับการอบรม อย่ารอจนสถานการ์เกิดแล้วจึงพัฒนาตน ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ พยายามแบ่งปันความรู้ โดยเริ่มจากนักเรียน ครูต้องมีความเป็นมิตร การใช้คำพูดต้องเข้าใจเด็ก ในการเรียนออนไลน์เมื่อเด็กมีการส่งงานตามที่ได้ตกลงกัน ครูก็ต้องมีช่องทางในการมอบรางวัลให้เด็ก เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความร่วมมือ แน่นอนเรื่องการปิดกล้องขณะเรียนออนไลน์ฯ อาจจะส่งเสริมให้เด็กสนใจการเรียนมากขึ้น ในขณะที่มีการเรียนออนไลน์ ต้องกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบรรยาย

คุณครูสุมณฑา เอมเอก โรงเรียนเทศบาล ๕ (วัดหัวป้อมนอก) จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การปรับตัวต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจกับผู้บริหาร เมื่อเราคุยกันเรียบร้อย จนได้ข้อสรุปของแนวทางการจัดการเรียนการสอนก็จะเริ่มจากครูที่จะต้องเรียนรู้วิธีการใช้งานระบบออนไลน์ และตัวช่วยต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคลชั่น และการสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยี แม้จะมีอการสนับสนุนให้ใช้ application เข้ามาเป็นตัวช่วยในการจัดการเรียนการสอน การมอบหมายงานจะเป็นสิ่งที่ครูตรวจเช็คได้ว่านักเรียนอยู่กับครูในขณะที่มีการเรียนออนไลน์ ดังนั้นแม้นักเรียนจะไม่เปิดกล้อง ครูก็ตรวจสอบได้และสามารถที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน ดังนั้นโรงเรียนจึงมีความสำคัญต่อการให้การสนับสนุนการเรียน

คุณครูวิสุทธิ์ คงกัลป์ โรงเรียนควนเนียงวิทยา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ปัจจุบันมีความจำเป็น จากเดิมนักเรียนเรียนห้องละ 50 คน เราสามารถเพิ่มเป็น 100-200 คนได้ โดยไม่ต้องเพิ่มทรัพยากร เป็นการช่วยลดทรัพยากร สิ่งสำคัญในการเรียนการสอนออนไลน์ ครูและนักเรียนต้องเปลี่ยนมุมมองต่อการเรียนในรูปแบบดงกล่าว ในระยะแรกอาจจะติดขัด แต่ ณ เวลานี้ ครูมีความเชี่ยวชาญขึ้น โปรแกรมต่าง ๆ ก็มีการพัฒนาเพื่อให้รองรับกับการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ความรับผิดชอบ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากกูเกิล ครูไม่จำเป็นต้องสอนตลอดเวลา แต่ผันตัวเองเป็นผู้ชี้แนะ ให้คำแนะนำ  เราจะพบว่าวิกฤตจากการเรียนออนไลน์ จะฝึกให้เด็กๆ รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น 

คุณครูสาธิต วรรณพบ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยเน้นการเล่นเกมส์ หรือการรายงานตัว ให้ดูวีดิโอแล้วช่วยกันตั้งประเด็นคำถาม เด็กๆ จะมีเพื่อนๆ ในห้องคอยช่วยเหลือ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และมีกิจกรรมทำร่วมกัน จะเรียนออนไลน์ หรือออนไซต์ หรือออนดีมาน เราต้องทำใจให้ยอมรับ และปรับตัวให้เท่าทันกับรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไป

          ต่อประเด็นคำถามที่ว่า ในปัจจุบันมีรูปแบบการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ การเรียนแบบไหนตอบโจทย์ต่อครูและนักเรียน

          คุณครูชญานี ขัตติยะมาน โรงเรียนอนุบาลสงขลา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จะเรียนแบบไหนดีทั้งหมดอยู่ที่บริบทใด สิ่งสำคัญต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้า 100 เปอร์เซ็นต์ อย่ารอให้ถึงเหตุการณ์ก่อนจึงค่อยเตรียมตัว เราในฐานะเป็นครูจะต้องเท่าทันและเตรียมพร้อมตลอดเวลาไม่ว่ารูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนอย่างไร เรียนออนไลน์สัปดาห์แรก ๆ อาจจะยังงงๆ แต่เมื่อผ่านเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 เราจะเริ่มปรับตัวได้ และเรียนได้สนุกมากขึ้น ครูต้องรู้จักที่จะออกแบบการเรียนรู้ การเรียนออนไลน์ สามารถปรับเปลี่ยนเป็น การเรียนแบบ Active Learning ได้แต่จะให้ดีที่สุดต้องออนในใจก่อนคือ ต้องพร้อมยอมรับและอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้  ครูต้องมีความพร้อมและเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ที่เท่าทันสถานการณ์

          คุณครูวิสุทธิ์ คงกัลป์ กล่าวว่า ครูต้องเปลี่ยนความคิด โรงเรียนต้องเปลี่ยนมุมมองงเชื่อมโยงสู่เครือข่ายการเรียนออนไลน์ มีประโยชน์ที่จะช่วยฝึกนักเรียนให้เป็นคนมีวินัย มีความรับผิดชอบ ห้องเรียนในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ครูควรใช้ประโยชน์ และเป็นโอกาสที่จะเร่งให้นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะปรับใช้สูตร KPA หรือ K-Knowledge P-Process A-Attitude โดยปรับกระบวนทัศน์ คือปรับ A -Attitude ให้นักเรียนมีความรับผิดชอบมากขึ้น สถานการณ์โควิด-19 จะกระตุ้นให้กลุ่มเด็กที่ยังขาดความรับผิดชอบ ต้องหันมาเอาใจใส่และรับผิดชอบตัวเองเพิ่มขึ้น  การปรับเปลี่ยนใด ๆ ก็ตามย่อมมีแรงกระเพื่อมเสมอ มองว่าเรื่องของการให้เกรด ในเทอมที่ 1 อาจจะยังไม่เข้มงวดในเรื่องของการตัดเกรด แต่ควรกระตุ้นให้เกิดกระบวนการของความรับผิดชอบ ให้เด็กได้เรียนรู้ เขาสามารถที่จะสอบ หรือส่งงาน โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องเข้มงวดตลอดเวลา ต้องปรับจูนให้เข้ากันเพื่อให้เด็กเรียนได้ ครูสอนได้  ครูจะต้องทำหน้าที่ในการเปิดมุมมองและปรับ “A” Attitude ของเด็กต่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ให้ได้ ทั้งนี้รูปแบบการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนในเทอมที่ 1 อาจจะต้องสังเกตและให้โอกาสเพื่อการปรับตัวแก่นักเรียน การที่จะตัดเกรดอย่างเข้มข้นในเทอมที่ 1 โดยส่วนตัวคิดว่ายังไม่ควร เด็กที่ได้รับโอกาสแล้ว แต่ยังไม่มีความรับผิดชอบอาจจะส่งผลต่อการเรียนในเทอมที่ 2 การกระทำลักษณะเช่นนี้จะสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการซึมซับและเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการเรียนมากขึ้น ในอนาคตรูปแบบการเรียนการสอนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ยิ่งการศึกษาเปลี่ยนไปเราก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเรียนการสอน ลักษณะการเรียนแบบ Visual Classroom อาจจะกลับมา ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากสังคมออนไลน์ และเปิดห้องเรียนออนไลน์เพื่อเป็นเวทีของการเสวนา หรือพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ  AI อาจจะเข้ามาทดแทนการเรียนการสอนแบบปกติ แต่สิ่งที่ AI ไม่อาจจะทดแทนได้นั้นคือ “จิตวิญญาณของความเป็นครู”

          คุณครูสุมณฑา เอมเอก ได้กล่าวสนับสนุนต่อประเด็นห้องเรียนแบบไหนตอบโจทย์การเรียนยุคใหม่ว่า ห้องเรียนในอนาคตจะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคุณครูและนักเรียน เด็กและคุณครู จะเรียนรู้เท่าทันสื่อไปพร้อมๆ กัน การเรียนรู้ของเด็กจะปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการเลือกประกอบอาชีพของพวกเขาในอนาคต ผู้ปกครองจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนการเรียนของลูกๆ มากขึ้น จะเป็นลักษณะการเรียนที่เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และคุณครู โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ทั้งไลน์กลุ่มผู้ปกครอง ไลน์กลุ่มนักเรียน ไลน์กลุ่มคุณครู เพื่อได้พูดคุย หารือ และร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆด้านการเรียนร่วมกัน ห้องเรียนในอนาคตจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีการค้นคว้าด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยครูต้องสร้างโจทย์ที่ท้าทายให้แก่นักเรียน

          คุณครูวิสุทธิ์ คงกัลป์ กล่าวว่า การปรับตัวสู่แนวทางการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ควรจะมีการพูดคุยกันในเชิงนโยบาย  ทั้งในเรื่องของการวัดผลที่เปลี่ยนไป การวัดผลด้วยการทดสอบอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ การมอบหมายงานจะมอบหมายอย่างไร ให้มีบริบทของการบูรณาการเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิต ซึ่งจะเพิ่มสมรรถนะเชิงแข่งขันให้แก่นักเรียนมากขึ้น

               คุณครูฒามรา พรหมหอม กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าห้องเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งสำคุญอยู่ที่นักเรียนมีใจหรือไม่ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการเรียนพร้อมหรือไม่ การให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในห้องเรียนมากขึ้น คุณครูจะมีวิธีการในการออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร เราจะสามารถนำสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร คุณครูจะเป็นผู้มีบทบาทในการออกแบบบริบทการเรียนรู้เหล่านี้ร่วมกัน จะเกิดเป็นลักษณะของการทำงานกลุ่มเชื่อมโยงกันโดยนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น คุณครูจะต้องเรียนรู้ว่าเด็กๆ สนใจอะไร เพื่อนำประเด็นเหล่านั้นมาผนวกเข้ากับเนื้อหาที่ต้องการสอน จะทำให้เกิดการบูรณาการการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ  ไม่ว่าห้องเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะ(ON-SITE) (ON-AIR) (ON-LINE) (ON-DEMAND) สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณครูอยู่รอดคือ วิธีการปรับทัศนคติ และประยุกต์ใช้กระบวนการ PLC เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียนจะทำให้การเรียนก้าวต่อไปได้

               คุณครูสาธิต วรรณพบ กล่าวว่า ควรมีการปรับกระบวนทัศน์สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนใหม่ คือนักเรียนจะต้องรู้ว่าเป้าหมายที่เขาเรียนไปเพื่ออะไร ถ้าคุณครูพุ่งเป้าที่ว่าลูกค้าคือผู้เรียน ทำอย่างไรที่จะให้ผู้เรียนได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้าของจุดหมายปลายทางในการเรียน เพื่อกระตุ้นให้พวกเขามีความกระตือรือล้นและขวนขวายในการเกี่ยวกับการเรียนของตนเองมากขึ้น การสอนของครูส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะฉะนั้นนักเรียนจึงควรที่จะมีการทักท้วงได้ในกรณีที่ครูสอนเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือสอนแล้วเด็กไม่เข้าใจ ยิ่งครูเปิดใจให้นักเรียนได้พูดคุยในเรื่องเหล่านี้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียนจะมีมากขึ้น ช่องว่างลดน้อยลง สิ่งที่คุณครูต้องมีเพิ่มขึ้นคือ ON heard ให้ใจ ใส่ใจ และเอาใจของนักเรียนมาใส่ใจครูเพื่อสู่กระบวนการเรียนร่วมกันอย่างสมบูรณ์

               สำหรับประเด็นคำถามปิดท้ายคือจะทำอย่างไรให้คุณครูสอนอย่างมีความสุข เราจะมีวิธีการในการเติมพลังใจในสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร?

               คุณครูชญานี ขัตติยะมาน กล่าวว่า คุณครูที่สอนในระดับประถมศึกษาจะมีปัญหาในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ทั้งกับนักเรียนและคุณครู ดังนั้นทุกครั้งที่จะเข้าสอนจะต้องให้กำลังใจกับตัวเองและนักเรียนของเราว่า พวกเราทำได้ คุณครูทำได้ นักเรียนก็ต้องทำได้ บอกตัวเอง เตือนตัวเองในทุกๆ วัน ว่าเราจะต้องทำได้ และอยู่กับมันอย่างมีความสุข ถ้าเรามีความสุข เราจะสามารถส่งผ่านความสุขเหล่านั้นไปสู่ผู้อื่นต่อไป

               คุณครูสุมณฑา เอมเอก เพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า คุณครูต้องเปิดใจให้ยอมรับกับสถานการณ์ ต้องปรับตัวให้พร้อมที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาปรับใช้ในการเรียนการสอนตลอดเวลา เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับตนเอง

                คุณครูฒามรา พรหมหอม กล่าวว่าคุณครูจะต้องทำใจให้ยอมรับกับความปกติใหม่ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า Covid-19 เป็นตัวการเร่งการเปลี่ยนแปลง และกระตุ้นให้คุณครูเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เพื่อการปรับตัว ดังนั้นคุณครูจึงต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีคิด ผู้ปกครองก็ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกระบวนการส่งเสริมให้ลูกๆ เกิดการเรียนรู้  ส่วนโรงเรียนก็ต้องปรับเปลี่ยน สังคมก็ต้องเปลี่ยน นโยบายต่างๆ ต้องเปลี่ยน การเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้จากคุณครูไปสู่นักเรียนไปสู่ผู้ปกครอง จากผู้ปกครองมาสู่คุณครู เป็นวงจรของการเรียนรู้ตลอดชีวิตร่วมกันอย่างไม่รู้จบ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเรียนการสอนเพื่อจะได้รู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี และรู้จักที่จะคัดเลือกเอาเทคโนโลยีมาใช้เสริมพลังในการเรียน

               คุณครูวิสุทธิ์ คงกัลป์ กล่าวว่า แม้การเรียนจะเปลี่ยนไปขอให้คุณครูมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่ทิ้งจิตวิญญาณของความเป็นครู นโยบายจะเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ต้องพร้อมที่จะช่ยเหลือครูให้ดำเนินการเรียนการสอนออนไลน์ได้ อย่าปล่อยให้คุณครูรู้สึกโดดเดี่ยว ผู้มีอำนาจต้องวิเคราะห์มุมมองที่เหมาะสมและหาทางออกร่วมกันในการให้การช่วยเหลือ สนับสนุน จะต้องรับรู้ร่วมกันกับคุณครู เพื่อกระตุ้นให้ครูมีกำลังใข และทำให้ดีที่สุด  ทุกคนเลือกที่จะทำสิ่งที่รักได้ แต่เราไม่สามารถเลือกอาชีพที่เรารักได้ เมื่อเลือกที่จะมาเป็นครู ก็จงรักวิชาชีพครูและอยู่กับมันให้ได้ ครูต้องพยายามวิเคราะห์และเรียนรู้ที่จะยอมรับเพื่อส่งต่อความรู้ให้กับลูกศิษย์ของเราต่อไป

               คุณครูสาธิต วรรณพบ กล่าวว่า กำลังใจจากนักเรียนที่มีให้ครูเป็นสิ่งสำคัญ การหาพันธมิตรและเพื่อนช่วยสอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ครูพยายามที่จะหาเพื่อนครูเพื่อปรึกษาหารือเป็นไปในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนซึ่งเป็นการกระตุ้นและเป็นกำลังใจให้กับครูด้วยกัน พยายามหาเพื่อนครูที่พูดคุยหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้เขาฟัง การเล่าเรื่องราวที่พบเจอในห้องเรียน เป็นรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้ที่ครูสามารถนำปัญหาและข้อคิดเห็นจากเพื่อนครูไปปรับใช้ได้  พยายามส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ให้แก่เพื่อนครูด้วยกัน  เด็กเป็นกำลังใจให้ครู ครูเป็นกำลังใจให้เด็ก เพื่อนเป็นกำลังใจให้เพื่อน คอยรับฟังและเสนอแนะแนวทาง กำลังใจที่ส่งต่อให้แก่กันและกันสุดท้ายจะสะท้อนกลับไปสู่ผู้เรียน เพราะกำลังใจที่สำคัญที่สุดของครูคือ นักเรียน

               ประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

คุณครูชญานี ขัตติยะมาน  “จะเรียนออนไลน์ หรือเรียนออนไซต์ เด็กที่มีความรับผิดชอบ เขาก็จะมีพฤติกรรม

เช่นนี้อยู่แล้วในตัว ครูจะต้องเข้าใจความแตกต่างของปัจเจกบุคคลและปรับใช้อย่างเหมาะสม”

คุณครูวิสุทธิ์ คงกัลป์ “การเรียนรู้จากผู้ประสบความสำเร็จจะเป็นทางลัดที่นำให้ครูพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น การเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับเครือข่ายจะทำให้ครูทำงานได้ง่ายขึ้น”

คุณครูฒามรา พรหมหอม “อย่าลืมว่าครูมีเพื่อน การเรียนรู้จากเพื่อนจะดีกว่า พยายามนำเทคนิค 3C มาให้ คือ Copy Cover Create”

คุณครูสุมณฑา เอมเอก “ร่วมกันแชร์และร่วมกันCreate เป็นสิ่งที่จะสร้างเด็กไทยให้เจริญ”

คุณครูสาธิต วรรณพบ “ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดคือเราจะได้รับผลร่วมกันซึ่งการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งจะนำไปสู่การต่อยอดในอนาคต สำคัญกว่าสิ่งอื่นคือใจจะต้องมาเพราะใจสำคัญที่สุด”