วันพฤหัสบดี, 31 ตุลาคม 2567

มหาวิทยาลัยทักษิณจับมือภาคีเครือข่าย ส่งเสริมสนับสนุน สืบสาน รักษา และต่อยอด ด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดพัทลุง

 กิจกรรม “รวมพลคนศิลป์ ถิ่นเมืองลุง” เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และวันอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญา มโนราของไทยสู่สากล ภายในงานมีการจัดกิจกรรมประกอบด้วย

1) การเสวนาทางวิชาการ “ สืบโยดสาวย่าน โนรา นาฎลักษณ์เมืองปักษ์ใต้” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

 – อาจารย์พิทยา บุษรารัตน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

 – รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564

         2) การกล่าวปาถก “โนรามรดกไทย มรดกโลก” โดย…รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ

         3) พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ด้านศิลปวัฒนธรรม ของภาคีเครือข่ายจังหวัดพัทลุง

         4) พิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด ลงนามถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

         5) พิธีเปิดอาคารเรินโนรา-หนังลุง

         6) การแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย

มโนราห์เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่นิยมเล่นสืบทอดกันมายาวนานไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ปี หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรําและมีท่ารําที่อ่อนช้อยสวยงามเป็นการร่ายรําและรับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นเป็นที่นิยมและถือปฏิบัติแพร่หลายในชุมชนรอบๆ ทะเลสาบสงขลา ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ดำเนินโครงการวิจัย “ โนรา : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นที่ทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย และทีมนักวิจัย มีแนวทางการดำเนินงานพัฒนานวัตกรทางด้านวัฒนธรรมผสานองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมโนราระหว่างศิลปินพื้นบ้านกับคนรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการทางด้านวัฒนธรรมโนราให้มีสมรรถะในการใช้สื่อธุรกิจออนไลน์ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ทีมนักวิจัยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการทางด้านโนราเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และจัดทำชุดข้อมูลในระบบสารสนเทศแผนที่วัฒนธรรมของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา

 ซึ่งการกล่าวปาถก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ใจความตอนหนึ่งว่า “ความเป็นมรดกโลกไม่สำคัญเท่าความเป็นมรดกเรา เราต้องภูมิใจในมรดกของเรา ศึกษาค้นคว้าอย่างเข้าใจ และลึกซึ้งเพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานในอนาคต ให้สืบสานมรดกแห่งภูมิปัญญาสืบไป” กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ร่วมกับวิทยาลัยนาฎศิลปพัทลุง ณ วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง