วันพุธ, 18 กันยายน 2567

มรภ.สงขลา เปิดตลาดวัฒนธรรม จัดพื้นที่จำหน่ายของดีท้องถิ่น ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างผู้ประกอบการใหม่ต่อยอดสู่อาชีพ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมตลาดวัฒนธรรมและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เปิดโอกาสผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีช่องทางจำหน่ายสินค้า ต่อยอดสู่การทำเป็นอาชีพ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดกิจกรรมตลาดวัฒนธรรมและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เมื่อที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ภายในงานเปิดให้นักศึกษา ร้านค้า ผู้ประกอบการ บุคคลทั่วไป และชุมชนที่เข้าร่วมโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (พระราโชบาย) จำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มีการแสดงศิลปวัฒนธรม และประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน การแสดงเดินแบบแฟชั่นโชว์ผ้าทอเกาะยอ นำโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา พร้อมด้วยนายแบบ นางแบบกิตติมศักดิ์กว่า 40  คน ร่วมนำเสนอเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าทอมือเกาะยอ หลากหลายรูปแบบ การแสดงจากนักศึกษาคณะศิลปกรรม ปิดท้ายด้วยการเสวนาพิเศษ “เกาะยอ : เพชรเม็ดงามแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ศักยภาพของพื้นที่ แนวทางการพัฒนาพื้นที่ โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากเป็นการดำเนินงานที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขันสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคตามเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในท้องถิ่นในการพัฒนาให้ทุกคนในท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ

ด้าน ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น และเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการสร้างผู้ประกอบการในท้องถิ่นโดยมุ่งเน้นให้เกิดการต่อยอดสู่การทำเป็นอาชีพร่วมกับหน่วยงานภายนอกในพื้นที่ และเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ผ่านการกระจายสินค้าทาง University as a Market Place และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงการทำงานบูรณาการร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างและบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ

 ทั้งนี้ กิจกรรมตลาดวัฒนธรรมและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม เป็นการออกบูธประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการใหม่ในเขตพื้นที่บริการของ มรภ.สงขลา โดยมหาวิทยาลัยมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยไปพัฒนาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการใหม่ให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างการเป็นผู้ประกอบการใหม่ โดยการทำงานเชิงบูรณาการในทุกภาคส่วน เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการใหม่รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน