วันศุกร์, 11 ตุลาคม 2567

มรภ.สงขลา อบรมเสริมสร้างทักษะจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง และรายงานการควบคุมภายใน

มรภ.สงขลา อบรมเสริมสร้างทักษะจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง และรายงานการควบคุมภายใน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน เสริมความรู้บุคลากร

ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเสริมสร้างทักษะในการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง และรายงานการควบคุมภายใน” ณ ห้องประชุมพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ชั้น 7 อาคารอำนวยการ มรภ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ว่า ความเสี่ยงเป็นสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นและส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร เกิดความเสียหาย ผิดพลาด ฉ้อโกง สูญเปล่า หรือทำให้วัตถุประสงค์ขององค์กรเบี่ยงเบนไป ทั้งยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อเงิน ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ขององค์กร ขวัญและกำลังใจของบุคลากร ความมั่นคงของประเทศ

ดังนั้น บุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆ ภายใน มรภ.สงขลา จึงจำเป็นต้องเข้ารับการอบรมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดเห็น ทัศนคติ ประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการกับวิทยากร นายสุรพงษ์ ชูรังสฤษฎิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนั้น ยังเป็นการสนับสนุนการบริหารงานของหน่วยงานให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และนโยบายของ มรภ.สงขลา โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใน มรภ.สงขลา และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 150 คน

ด้าน นางวลัยพร พรหมเทพ หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า ด้วยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง ซึ่งจัดทำขึ้นสำหรับหน่วยงานของรัฐเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำระบบการควบคุมให้เหมาะสมกับลักษณะ ขนาด และความซับซ้อนของงานในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐ มีการติดตามประเมินผลและปรับปรุงการควบคุมภายในให้เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งมีการปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง หน่วยตรวจสอบภายในเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในเรื่องนี้ จึงจัดได้โครงการอบรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความเข้าใจ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานนั้น ๆ ต่อไป