วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

มรภ.สงขลา อบรมเพิ่มศักยภาพวิศวกรสังคม บ่มเพาะ นศ. มีคุณลักษณะตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษา

กองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา จัดอบรมเพิ่มศักยภาพวิศวกรสังคม บ่มเพาะนักศึกษามีคุณลักษณะตามพระบรมราโชบาย พร้อมนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2565 กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพวิศวกรสังคม ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารศูนย์รวมกิจการนักศึกษา มรภ.สงขลา และพื้นที่ใน จ.สงขลา วัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะให้นักศึกษาวิศวกรสังคมมีคุณลักษณะตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ตลอดจนเพื่อนำทักษะและเทคนิคของวิศวกรไปประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์ปัญหาบนฐานข้อมูลชุมชน และเพื่อให้วิศวกรสังคมบูรณาการองค์ความรู้หรือสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน

อาจารย์จิรภา กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทำหน้าที่ผลิต พัฒนา และเสริมสร้างให้บัณฑิตมีคุณลักษณะตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ ได้แก่ 1. มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง 3. มีงานทำ-มีอาชีพ และ 4. เป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย อีกทั้งมุ่งพัฒนานักศึกษาให้เกิดทักษะทางสังคมด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ให้เกิดทักษะสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. นักคิด : ทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุ-ผล เห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย 2. นักสื่อสาร : ทักษะการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา 3. นักประสานงาน : ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถระดมทรัพยากร สรรพกำลังในท้องถิ่นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาได้ และ 4. นวัตกร : ทักษะการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาบนฐานข้อมูลชุมชน

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นที่ผ่านมาของ มรภ.สงขลา นั้น ได้เน้นการนำเอาศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับคนในชุมชน รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะศาสตร์ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ และนักศึกษาวิศวกรสังคม มรภ.สงขลา สามารถนำทักษะที่ได้รับไปบูรณาการสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของ จ.สงขลา ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป