วันจันทร์, 2 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา สุดปลื้ม “เซรั่มสารสกัดดอกกาแฟ” ผลงานทีม Robusta Essenceชนะเลิศ best of the best ประเภทใช้ดี “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ระดับประเทศ

ทีม Robusta Essence มรภ.สงขลา ส่งผลงาน “เซรั่มสารสกัดดอกกาแฟ” คว้ารางวัลชนะเลิศ best of the best ประเภทใช้ดี โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 ระดับประเทศ สุดปลื้ม เป็นความสำเร็จที่รอคอยมา 7 ปี ขอบคุณ ธ.ออมสินและวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-บ้านเปียน ผู้ร่วมผลักดันเบื้องหลัง

ทีม Robusta Essence มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ซึ่งมีสมาชิกในทีมประกอบด้วย น.ส.ธัญญาลักษณ์ ชายจันทร์ น.ส.ธนาภรณ์ กะถันโณ นายอุสมะ มามะ น.ส.นภัสสร มะกา น.ส.สุธาทิพย์ เจิมขวัญ นายพงศ์เพชร ทองเสภี จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น.ส.อิสสริยา สุขสำราญ น.ส.กุลณัฐ สิทธิปรุ และ น.ส.ปาลิดา ทิพสงค์ จากคณะวิทยาการจัดการ ที่มี ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ผศ.ดร.ภวิกา มหาสวัสดิ์ ดร.ธีรยุทธ ศรียาเทพ และ ดร.รรินา มุกดา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา นำผลงานผลิตภัณฑ์ “BAYO BUSTA DAILY MOISTURIZING SERUM” เซรั่มจากสารสกัดดอกกาแฟ คว้ารางวัลชนะเลิศ Best of the Best ประเภทใช้ดี ระดับประเทศ ในงานนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี โดยมี นายศักดิ์สิทธิ์ สุนทรกุล ชธส.ธย. เป็นประธานในพิธีเปิด

สำหรับผลิตภัณฑ์เซรั่มสารสกัดดอกกาแฟ จากชุมชนบ้านโหนด หรือที่รู้จักกันในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-บ้านเปียน ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากการปลูกต้นกาแฟเพื่อขายเมล็ด ซึ่งในแต่ละปีมีผลผลิตกาแฟเป็นจำนวนมาก นักศึกษาและอาจารย์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและคณะวิทยาการจัดการ จึงได้ร่วมกับทางกลุ่มพัฒนาดอกกาแฟให้เป็นสารสกัดใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิว เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตจากกาแฟ และเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยผลิตภัณฑ์เซรั่มสารสกัดดอกกาแฟ ได้รับการขึ้นทะเบียนเลขจดแจ้งเลขที่ 90-1-6700030791 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณโครงการดี ๆ จากธนาคารออมสิน ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในมิติเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ด้วยสินค้าหรือบริการที่ได้ปรับแก้ไขจากการวางแผนการทำงานเป็นอย่างดี นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน และได้รู้จักท้องถิ่นของตนเองดีขึ้นผ่านโครงการนี้

ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา มีความภาคภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best of the Best ประเภทใช้ดีในปีนี้ เรารอคอยรางวัลนี้มาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ทางคณะฯ ทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ขอขอบคุณธนาคารออมสินสำหรับโครงการดี ๆ และขอขอบคุณวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-บ้านเปียน นำโดย นางเสาวณิตย์ ศรีนุ่น ที่ให้โอกาสอาจารย์และนักศึกษา มรภ.สงขลา ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชน