วันจันทร์, 2 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา สร้างองค์ความรู้พัฒนาเครือข่าย “7 คณะ 7 ชุมชนต้นแบบ” พัฒนาท้องถิ่นตามโครงการพระราโชบาย พื้นที่สงขลา พัทลุง สตูล

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ผนึกภาคีเครือข่าย 7 คณะ 7 ชุมชนต้นแบบ เดินหน้าโครงการศักยภาพกระบวนการทำงานพัฒนาท้องถิ่น ตามโครงการพระราโชบาย พื้นที่สงขลา พัทลุง สตูล เทียบเชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมเสวนาสร้างเครือข่ายชุมชน น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาท้องถิ่น สร้างองค์ความรู้พร้อมจัดทำทำเนียบคลังสมองบรรจุข้อมูลทุกชุมชนลงแพลตฟอร์ม ใช้เป็นฐานข้อมูลวางแผนดำเนินงานอย่างยั่งยืนร่วมกันในอนาคต 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการการพัฒนาศักยภาพกระบวนการทำงานในรูปภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามโครงการพระราโชบาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กิจกรรมที่ 2 :  จัดงานการสร้างองค์ความรู้และจัดทำทำเนียบคลังสมองภาคีเครือข่ายการพัฒนาท้องถิ่น ตามโครงการพระราโชบาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ในพื้นที่ จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.สตูล ระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมลากูน่าแกรนด์ แอนด์ สปาสงขลา ต.พะวง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา ซึ่ง รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ได้มอบหมายให้ ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการมรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด

ภายในงานมีการสัมมนา หัวข้อ “กระบวนการทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่ายกับการพัฒนาท้องถิ่น และตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากกระบวนการดำเนินงานในรูปแบบภาคีเครือข่าย” โดย ดร.กุลทัต หงส์ชยางกูร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.เพ็ญ สุขมาก อาจารย์สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นายสุริยา  ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ดำเนินรายการโดย ผศ.ศดานนท์ วัตตธรรม โดยมีภาคประชาชนในพื้นที่ความดูแลของ 7 คณะ เข้าร่วมจำนวน 250 คน

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวระหว่างพบปะกับ 7 ชุมชนต้นแบบกลุ่มภาคีเครือข่ายฯ ว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นการร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มและจัดทำฐานข้อมูล สร้างองค์ความรู้และจัดทำทำเนียบคลังสมองของภาคีเครือข่าย อันได้แก่ กลุ่มหรือองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และ ภาคประชาชน ประกอบด้วย การพัฒนาแพลตฟอร์มภาคีเครือข่าย 7 ชุมชนต้นแบบ การจัดทำทำเนียบคลังสมองของภาคีเครือข่าย การจัดทำแผนการทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่าย รวมถึงการสร้างโมเดลต้นแบบการทำงานในรูปภาคีเครือข่าย และการแถลงผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในรูปภาคีเครือข่ายของชุมชนต้นแบบ และในอนาคตอาจดึงชุมชนอื่น ๆ นอกเหนือจาก 7 ชุมชนต้นแบบเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหากสามารถนำความองค์ความรู้เหล่านั้นเข้าสู่แพลตฟอร์มที่ใครก็สามารถเข้ามาดูได้ ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ที่สนใจ ภายใต้หลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่ง มรภ.สงขลา พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมมือกับชุมชน เพราะเราเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 

ด้าน ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการมรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ในโครงการพระราโชบาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย 5 กิจกรรมย่อย ได้แก่ 1. การพัฒนาแพลตฟอร์มภาคีเครือข่าย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 2. การสร้างองค์ความรู้และจัดทำทำเนียบคลังสมองของภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 3. การจัดทำแผนการทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่ายให้กับชุมชนต้นแบบ 4. โมเดลต้นแบบการทำงานในรูปภาคีเครือข่ายของชุมชนต้นแบบ 5. แถลงผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในรูปแบบภาคีเครือข่ายของชุมชนต้นแบบ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการที่ทุกคณะของ มรภ.สงขลา ได้มีการพัฒนาชุมชนต้นแบบของตนเอง จึงทำให้ได้เกิดแนวคิดในการสร้างภาคีเครือข่ายร่วมกันทั้ง 7 ชุมชนกับ 7 คณะ

ดร.รัชชพงษ์  ชัชวาลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการที่จัดทำขึ้นนี้เป็นการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อนเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการร่วมแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทและสภาพปัญหาในเชิงลึกอย่างแท้จริง โดยมีการทำงานในรูปภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้ผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง 7 คณะของ มรภ.สงขลา และ 7 ชุมชนต้นแบบที่แต่ละคณะดูแลรับผิดชอบ ดังนี้

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับชุมชนต้นแบบเขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ซึ่ง ต.เขาขาว เป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวชุมชน อยู่ในพื้นที่ จ.สตูล ซึ่งถูกยกให้เป็นอุทยานธรณีโลก จุดเด่นในการพัฒนาพื้นที่เขาขาวคือ การเป็นชุมชนท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา มีถ้ำทะลุ ตลาดนานาสตูลจีโอพาค และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กาแฟ เสื้อผ้าพื้นเมือง และกลุ่มนวดสปาฮาลาล แต่ละกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ผลิตและจำหน่ายโดยชุมชน ชุมชนมีความรักและสามัคคีกัน จึงเกิดความเข้มแข็งร่วมกันสร้างให้ชุมชนเขาขาวเป็นชุมชนต้นแบบได้

คณะศิลปกรรมศาสตร์ กับชุมชนต้นแบบตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ต.ตะโหมด เป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวชุมชน มีพี่น้องชาวไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองมาเนิ่นนาน จนถูกขนานนามว่า “ชุมชนสองศาสนา” มีกิจกรรมการท่องเที่ยวมากมาย มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น ศูนย์เลี้ยงผึ้งโพรงไทย ศูนย์ผลิตผ้ามัดย้อม อาหารพื้นบ้าน ประเพณีครัวร้อยสาย อาหารจากปิ่นโต อีกทั้งมีดนตรีศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำวงกลองยาวและมโนราห์จากเด็กเยาวชน ความหลากหลายนี้รวมกันอยู่ที่นี่ชุมชนต้นแบบ ต.ตะโหมด

คณะวิทยาการจัดการ กับชุมชนต้นแบบโคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ชุมชนโคกม่วงเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายในด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม มีการดำรงชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม มีประเพณีและวัฒนธรรมสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ พื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตร มีผลิตภัณฑ์เครื่องแกงและกล้วยฉาบที่เป็นของดีและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้านแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้พัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและต้นแบบชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น ชุมชนโคกม่วงจึงเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความหลากหลายอย่างชัดเจน

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับชุมชนต้นแบบท่าหิน อ.สทิงพระ  จ.สงขลา ชุมชนท่าหินเป็นชุมชนที่ดำรงอยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยและรักษาธรรมชาติของวิถี “โหนด นา เล” มีอาชีพเป็นเกษตรกรและทำประมงน้ำจืด มีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์โดดเด่นเช่น น้ำตาลโตนดผง สบู่ก้อน สบู่เหลวผสมสารสกัดจากตาลโตนด ชุมชนท่าหินยังเป็นศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยวิถีโหนด นา เล เป็นวิถีพื้นบ้าน วิถีแห่งสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้น้อมนำศาสตร์พระราชาถ่ายทอดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนา ทำให้ชุมชนหันกลับมาสนใจภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างสำนึกรักบ้านเกิด และทำให้เกิดความภูมิในใจชุมชนของตนเอง

คณะเทคโนโลยีการเกษตร กับชุมชนต้นแบบทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ชุมชนทุ่งลานเป็นชุมชนต้นแบบด้านการเกษตรผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ คือการพัฒนากาแฟเป็นสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน การอนุรักษ์คลองหลา การเลี้ยงโคเนื้อ การเพิ่มมูลค่าหน่อไม้ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าหมอไชย และการสร้างยุวเกษตรรักษ์ถิ่น โดยนำศาสตร์ความรู้ทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติของชุมชนไปพร้อมกันกับการบริหารจัดการ มาถ่ายทอดให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพหลักและอาชีพเสริมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและความเข้มแข็งต่อไป

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กับชุมชนต้นแบบเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ต.เกาะแต้ว เป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม : นา สวน ควน เล เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในชุมชนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ชุมชนเกาะแต้วมีความสมบูรณ์ทางด้านอาหารสูง เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของ อ.เมืองสงขลา มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจ เช่น เครื่องแกงสมุนไพรตำมือ ขนมพื้นบ้าน ขนมไทยโบราณ ไข่เค็มกะทิสดใบเตย มะพร้าวน้ำหอม ข้าวอินทรีย์ และอาหารทะเลสด  ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของชุมชนเกาะแต้ว ชุมชนแห่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง

วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ กับชุมชนต้นแบบทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล ซึ่ง ต.ทุ่งนุ้ย เป็นชุมชนต้นแบบที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมอยู่กันอย่างปกติสุขและร่มเย็น รวมถึงมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีบุคคลที่ทรงคุณค่า  มีภูมิปัญญาในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการเกษตร การแพทย์แผนโบราณ (หมอตำแย) ด้านศิลปะ การจักสาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเด่นของ ต.ทุ่งนุ้ย ทั้งสิ้น

 ทั้งนี้ มรภ.สงขลา และชุมชนต้นแบบทั้ง 7 ชุมชน ได้ร่วมกันสร้างกลุ่มภาคีเครือข่ายให้เกิดขึ้น และบรรจุข้อมูลของทุกชุมชนลงในแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นฐานข้อมูลภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามโครงการพระราโชบาย ในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และ สตูล ซึ่งจะสามารถนำฐานข้อมูลในแพลตฟอร์มมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงาน การบริหารจัดการ การแก้ปัญหา และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดการพัฒนาศักยภาพกระบวนการทำงานในรูปภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามโครงการพระราโชบาย อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อการใช้งานร่วมกันต่อไปในอนาคต