วันจันทร์, 7 ตุลาคม 2567

มรภ.สงขลา ประชุมวิชาการระดับชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ครั้งที่ 1 เปิดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย 4 สาขา ผลักดันสู่สากล

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ครั้งที่ 1 แบบออนไลน์ นำเสนอผลงานวิจัย 4 สาขา ภาษาและวรรณกรรม วัฒนธรรมในลักษณะอื่น ศิลปะ งานช่าง การออกแบบ นาฏ-ดุริยศิลป์และงานสร้างสรรค์ หวังผลักดันสู่ระดับสากล

เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ครั้งที่ 1 ร่วมผลักดันงานวิจัยและวิชาการในระดับสากล ผ่านระบบการประชุมแบบออนไลน์(Zoom Application) ณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน รักษา และเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณภาพ เป็นเวทีส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิชาการ และยังเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดด้านวัฒนธรรมและศิลปะ เป็นสื่อเชื่อมโยงบุคลากรในวิชาชีพศิลปกรรม โดยเปิดรับบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีภารกิจหลักในด้านการทำนุบำรุงด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืน รวมทั้งการสร้างประโยชน์คุณค่าต่อชุมชน โดยตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านศิลปะและวัฒนธรรม การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องหรือบูรณาการงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมวิชาการครั้งนี้ ทุกท่านจะได้องค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมในด้านศิลปะและวัฒนธรรม ได้เครือข่ายการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดและพัฒนาวิชาการเพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติ รวมถึงเพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายงานวิจัยในระดับชาติต่อไป

ด้าน อาจารย์โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า สำนักศิลปะและวัฒนธรรม จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ครั้งที่ 1 ในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Zoom Application เนื่องด้วยสถานการณ์ Covid-19 ภายใต้ความปกติใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริม สนับสนุน รักษา และเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณภาพ ได้แก่ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ศิลปะการแสดง แนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล งานช่างฝีมือดั้งเดิม การละเล่นพื้นบ้าน การกีฬาพื้นบ้าน ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และลักษณะอื่น โดยเป็นเวทีส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิชาการ และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดด้านวัฒนธรรมและศิลปะ เป็นสื่อเชื่อมโยงบุคลากรในวิชาชีพศิลปกรรม

ผศ.ดร.จรรย์สมร ผลบุญ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า งานประชุมวิชาการระดับชาติที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เปิดรับบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีผู้สนใจร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการจาก 4 สาขา ประกอบด้วย สาขาภาษาและวรรณกรรม สาขาวัฒนธรรมในลักษณะอื่นๆ สาขาศิลปะ งานช่าง และการออกแบบ สาขานาฏ-ดุริยศิลป์และงานสร้างสรรค์ รวม 48 บทความ จากทั้งในและต่างประเทศ ร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้อย่างคับคั่ง ทั่งนี้ บทความที่ได้รับประเมินในระดับสูงจากผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในวารสารสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ต่อไป

ขณะที่ อาจารย์กมลนาวิน อินทนูจิตร รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา รับผิดชอบงานบรรณาธิการวารสารสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวารสารศิลปะและวัฒนธรรม ว่า วารสารมีนโยบายรับตีพิมพ์บทความคุณภาพสูงในด้านวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณภาพในด้านต่างๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ อาจารย์ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปทั้งในระดับชาติและสากล ซึ่งในขณะนี้สามารถส่งบทความผ่านระบบ ThaiJo ได้แล้ว และมีเป้าหมายในการสร้างมาตรฐานคุณภาพวารสารให้ผ่านการรับรองคุณภาพของ TCI ภายในปี พ.ศ. 2567

ปิดท้ายด้วย ดร.บรรจง ทองสร้าง รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในโครงการประชุมวิชาการฯ ว่า ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบุคลากรและอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมเป็นสิ่งทรงคุณค่ามากมาย เวทีการประชุมวิชาการนี้ช่วยให้นักวิชาการ อาจารย์และนักศึกษา ได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของท้องถิ่นที่ตนอาศัยผ่านบทความทางวิชาการ และหวังว่างานวิจัยที่นำเสนอในเวทีนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ยั่งยืนต่อไป