วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

มรภ.สงขลา ทำโครงการ “นาบุญ จิตอาสาซอแรงดำนา แบบวิถีพื้นบ้านสตูล” ชวนเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ฯ สืบสานประเพณีท้องถิ่น-อนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิม

 มรภ.สงขลา จับมือเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ฯ ทำโครงการ “นาบุญ จิตอาสาซอแรงดำนา แบบวิถีพื้นบ้านสตูล” ดึงคนรุ่นใหม่สืบสานประเพณีท้องถิ่น อนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิม  ควบคู่จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้เกษตรกรและผู้สนใจ

 วันที่ 27 ตุลาคม 2565 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำทีมคณาจารย์และนักศึกษา มรภ.สงขลา เข้าร่วมโครงการ “นาบุญ จิตอาสาซอแรงดำนา แบบวิถีพื้นบ้านสตูล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ณ ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมชุมชนทุ่งใหญ่สารภีโมเดล มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล โดยมี นางปิยรัตน์ ลัภกิตโร เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมกันถอนเตรียมต้นกล้าและปักดำต้นกล้าในแปลงนาสาธิต ฐานการทำนาอินทรีย์ ทั้งยังเป็นการบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาสาขาวิชานวัตกรรมเกษตรเพื่อความยั่งยืน ได้มีประสบการณ์การดำนาด้วยวิธีปักดำ ซึมซับและสิบทอดประเพณีอันดีงาม

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมชุมชนทุ่งใหญ่สารภีโมเดล มีวิสัยทัศน์คือ เป็นศูนย์กลาง (Hub) การทำเกษตรด้วยนวัตกรรม ยกระดับชุมชนเข้มแข็งบนฐาน BCG ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีภารกิจการดำเนิน 3 ด้าน คือ การพัฒนาพื้นที่ พัฒนาคน และพัฒนาท้อง ตามบริบทภูมิสังคม ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ศูนย์ฝึกการเรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมชุมชน “ทุ่งใหญ่สารภีโมเดล” ได้ดำเนินการปรับพื้นที่ตามรูปแบบ โคก หนอง นา ในพื้นที่จำนวน 13.50 ไร่ และได้สร้างฐานเรียนรู้ มากกว่า 10 ฐาน ซึ่งในการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ฯ มรภ.สงขลา ได้ลงนามความร่วมมือกับจังหวัดสตูลและเครือข่ายการขับเคลื่อนการเรียนรู้จำนวน 37 หน่วยงาน เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ สตูลอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ได้ร่วมมือกันช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน/หมู่บ้าน ในการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้มีการนำหลักวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในระดับครัวเรือน หมู่บ้าน/ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา และจะยกระดับสู่การขับเคลื่อนเป็นสถาบันความพอเพียง ประจำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 นางปิยรัตน์ ลัภกิตโร ประธานในพิธี กล่าวว่า ขอชื่นชม มรภ.สงขลา ที่เห็นความสำคัญในการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ส่งเสริม สืบสาน เผยแพร่ และอนุรักษ์ประเพณีซอแรงดำนาแบบวิถีท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ลืมมองข้างหลัง อันเป็นการพัฒนาคนและสังคมได้อย่างพอเหมาะพอควร นอกจากนั้น กิจกรรมซอแรงยังเป็นโอกาสให้เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ปราชญ์ชาวบ้านและชุมชน ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันในทุก ๆ ปี ถือเป็นการช่วยส่งเสริมความสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีของคนในเครือข่ายอีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้ช่วยอธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมชุมชนทุ่งใหญ่สารภีโมเดลในปี 2565 มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมามากกว่า 500 คน จากจำนวน 15 กลุ่ม อาทิ คณะศึกษาดูงานจากเครือข่าย กอ.รมน. จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มสตรี คณะครูและนักเรียนจากจังหวัดสงขลา คณะลูกเสือ เนตรนารีจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสตูล การศึกษาดูงาน สว.สัญจร เป็นต้น มีการพัฒนานวัตกรรมระบบเกษตร 3 นวัตกรรมที่ขยายผลสู่ชุมชน มีการอบรมเกษตรกรและผู้ที่สนใจจากหลักสูตรระยะสั้น 16 หลักสูตร ได้เครือข่ายชุมชนต้นแบบในพื้นที่จังหวัดสตูล (กลยุทธ์ 1 อำเภอ 1 ชุมชนต้นแบบ) โดยมีศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมชุมชนทุ่งใหญ่สารภีโมเดลเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักจำนวน 4 ชุมชน (20 หมู่บ้าน)

 ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูของการทำนา (ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม) ทางศูนย์เรียนรู้ฯ จึงได้จัดทำโครงการซอแรงดำนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานประเพณีและอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมความรักความสามัคคีในชุมชน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชนและเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ฯ และเพื่อให้เด็กนักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้ประเพณีดั้งเดิมและร่วมอนุรักษ์สืบทอดให้คงอยู่ต่อไป