วันจันทร์, 2 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา ขับเคลื่อนโครงการพระบรมราโชบาย พัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับรายได้ชุมชนฐานราก

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา สนองพระบรมราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับรายได้ให้กับชุมชนฐานราก จัดอบรมส่งเสริมอาชีพระดับครัวเรือน หวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากผลกระทบ covid-19  

ดร.กันตภณ มะหาหมัด รองคณบดีฝ่ายวิชาการและงานวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับชุมชนฐานราก กิจกรรมย่อย : อบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้สำหรับครัวเรือนในชุมชนฐานราก พื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ปีที่ 2 ณ ต.บ่อยาง และ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่า ตามที่ภาครัฐได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ และใช้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชบรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบาย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ของประชาชน แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประชาชนและประเทศชาติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ก็ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะสานต่อโครงการในพระราชดำริของพระราชบิดา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้ทรงมอบพระบรมราโชบายด้านการศึกษาผ่านองคมนตรี ใจทราบตอนหนึ่งว่า “ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน”

ดร.กันตภณ กล่าวว่า ในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้จัดทำโครงการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชน  สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้อย่างสมดุลและมีความเหมาะสม สามารถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มคุณค่าและมูลค่าเสริมเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชุมชนหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งให้ความรู้และเป็นที่พึ่งพิงทางวิชาการ มีบุคลากร นักวิชาการที่มีศักยภาพในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนที่พร้อมจะขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่

รองคณบดีฝ่ายวิชาการและงานวิจัย กล่าวอีกว่า คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ตระหนักถึงความสำคัญของการมีบทบาทสนับสนุนด้านวิชาการและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมสู่ชุมชนฐานรากที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน จึงจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับชุมชนฐานราก กิจกรรมย่อย : อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้สำหรับครัวเรือนในชุมชนฐานราก” ขึ้นเป็นปีที่ 2 ในลักษณะการดำเนินการแบบแก้ปัญหาเชิงลึกระดับครัวเรือนในลักษณะนำร่องตามความต้องการของครัวเรือน ในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งครัวเรือนดังกล่าวได้มาจากการสำรวจความต้องการของมหาวิทยาลัยเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุดและมีความอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรวมถึงการยกระดับรายได้ให้กับชุมชน ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และครัวเรือน  

“ช่วง covid-19 ระบาดทำให้ชาวบ้านลำบากมากๆ ตอนนี้เมื่อปลดล็อคแล้วครัวเรือนจึงอยากประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้ ทางเราได้ลงพื้นที่สำรวจและนำข้อมูลต่างๆ มาประมวล เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพของคนในชุมชน รวมทั้งให้คำแนะนำในการขาย การบริการ ความปลอดภัย และการปรับปรุงเครื่องมือให้เหมาะสม ซึ่งทางคณะทำงานได้บูรณาการการทำงานในการยกระดับรายได้ครัวเรือน โดยคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ ร่วมกันพัฒนาชุมชน อ.เมือง จ.สงขลา และเครือข่ายผู้นำชุมชนเขตพื้นที่ ต.บ่อยาง ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา ขับเคลื่อนโครงการพระบรมราโชบายในการให้เบ็ดเพื่อตกปลาและสอนวิธีตกปลา แก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับรายได้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” รองคณบดีฝ่ายวิชาการและงานวิจัย กล่าว

ด้าน นางสมใจ ขาวเรือง ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ต.บ่อยาง กล่าวว่า ขอบพระคุณ ดร.กันตภณ ตลอดจนคณาจารย์และลูกศิษย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทุกๆ คนที่ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนที่ลำบาก ให้สามารถลืมตาอ้าปากช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้ ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น อาจารย์น่ารักและมีอัธยาศัยที่ดีมาก ตนอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ เชื่อว่าคงได้รับความอบอุ่นและได้รับความรักความเมตตาจากอาจารย์เป็นที่สุด