วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2567

นิพนธ์ โชว์ความพร้อมหาดใหญ่เมือง MICE city เร่งส่งเสริมท่องเที่ยว-ประชุมสัมมนาภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเปิดประเทศเต็มรูปแบบ มั่นใจ นำพาเศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตได้

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่รร.บุรีศรีภู บูติก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา โดยมีนายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายนิพัฒน์ อุดมอักษร ประธานเครือข่ายSMEจ.สงขลา ผู้แทนจากเทศบาลนครหาดใหญ่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายอำเภอหาดใหญ่ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ อำเภอเมืองสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สนง.ตรวจคนเข้าเมือง ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยมีหัวข้อการประชุมประกอบด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และความคืบหน้าในการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา

โดยที่จังหวัดสงขลาได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 1- 31 ธันวาคม 2564 จึงได้กำหนดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ตามมาตราการ COVID Free Setting จำนวน 3 อำเภอคือ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา และอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งได้มีการจัดตั้งศูนย์ Command Center ณ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา การเตรียมการให้มีแผนปฏิบัติการ หรือแผนเผชิญเหตุครอบคลุมตามมาตราการที่กำหนด และดำเนินการฝึกซ้อม กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 การเตรียมความพร้อมระบบบริการต่างๆ และการกำกับติดตามผู้เดินทาง แนวทางการแจ้งเหตุ กรณีที่พบผู้ติดเชื้อ รวมถีงแผนสำรองสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ไม่ผ่านการตรวจคัดกรอง การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์สาธารณสุข อาทิการฉีดวัคซีนให้ประชาชน แนวทางการเฝ้าระวังควบคุมโรค และแผนการรับมือด้านการพยาบาล รวมถึงการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การเปิดการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาชนทั่วไป

นายนิพนธ์ รมช.มท. กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวข้อง ถือเป็นการประชุมหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเตรียมความพร้อมเปิดเมืองสงขลา เมือง MICE cithy ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งได้รายงานภาพรวมมาตราการในการดูแลประชาชน หรือมาตราการเร่งรัดในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้มั่นใจได้ว่าในการดูแลเรื่องระบบสาธารณสุขของประชาชนให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ของจังหวัดสงขลาทำได้อย่างเป็นระบบและมีความพร้อม และเชื่อมั่นอีกว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ สงขลาจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ 80% ของจำนวนประชากรภายในเดือนธันวาคม ซึ่งในส่วนของจังหวัดสงขลา ยังคงต้อง การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่เราต้องคิดต้องทำคือ เราจะมีการบริหารอย่างไร ในเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพ เพื่อให้เดินคู่ไปกับเศรษฐกิจในเรื่องปากท้องของประชาชนไปด้วยกัน นี่คือความสำคัญที่นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยหลายฝ่าย ว่าทำอย่างไรที่จะหาจุดความพอดีระหว่างเรื่องความปลอดภัยในสุขภาพ และในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เพื่อว่ารัฐจะสามารถลงมาช่วยเหลือในมาตราการใดบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับแผนการเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดสงขลาคือ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอจะนะ และอำเภอสะเดา ต้องมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทั้งนี้ อยากฝากท้องถิ่นในการลงมาดูแล ทั้งอบจ.สงขลาและเทศบาลต่างๆ ต้องลงมาช่วยเหลือในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนใน 5 อำเภอของสงขลา รวมถึงการการศึกษาและถอดบทเรียนจากเพื่อนบ้าน ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในเรื่องของการเปิดเมือง เพื่อเตรียมขั้นตอนในการรองรับ จึงต้องมีการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การเปิดเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดเมืองได้ก่อนปีใหม่แน่นอน ดังนั้นในข่วง 60 วันจากนี้ไปจะเป็นในช่วงของการทำแผนระยะเวลามี่ชัดเจน ว่าช่วงไหนใครต้องทำอะไรอย่างไร เพื่อเตรียมเปิดเมืองสงขลาในเดือนธันวาคมนี้ โดยในส่วนของอำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมืองสงขลา จะเป็นพื้นที่ 3 อำเภอเป้าหมาย ที่สงขลาได้เตรียมแผนงานไว้ว่าจะป็นเมืองท่องเที่ยว อีกด้วย

รมช.มท. กล่าวต่ออีกว่า ถ้าจะรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศบางทีก็มีเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่สามารถไปกำหนดได้ แต่ถ้ามีการปรับแผนในระยะต้น โดยให้ไทยเที่ยวไทยแล้ว ใช้จุดแข็งของหาดใหญ่ที่เป็นเมืองไมซ์ซิตี้ MICE city หรือเมืองท่องเที่ยวประชุมสัมนา มาจัดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อย่างนี้จะเป็นการส่งเสริมศักยภาพของเมืองหาดใหญ่ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการปรับแผนงาน ที่จะรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อนำพาเศรษฐกิจของประเทศฝ่าวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน