วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2567

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ร่วมเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการขับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) โครงการขับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จับมือองค์กรเครือข่ายร่วมค้นหาศักยภาพความพร้อมและแนวทางยกระดับ ปูทางสู่การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ชูจุดขายทะเลแบบลากูนหนึ่งเดียวของไทย และหนึ่งเดียวใน 117 แห่งทั่วโลก

 คณาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เข้าร่วมการประชุมกลุ่มใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ผลการศึกษาและสาระสำคัญของแผนขับเคลื่อนฯ โครงการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ณ โรงแรมบีพี สมิหลา บีช สงขลา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 จัดโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในการจัดการท่องเที่ยวกลุ่มหน่วยงานหนุนเสริมที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทั้ง 3 จังหวัดคือ สงขลา พัทลุง และ นครศรีธรรมราช ในการนี้ ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มรภ.สงขลา เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมถึง 300 คน

การจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาศักยภาพความพร้อมและแนวทางในการยกระดับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และจัดทำ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยว นโยบายการพัฒนาต่าง ๆ ของเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดทำแผนการถอนตัวจากพื้นที่ (Exit plan) อย่างเหมาะสม เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือภาคีเครือข่ายมีกลไกที่สามารถบริหารจัดการด้วยตนเองได้ แสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 ทั้งนี้ งานวิจัยและบริการวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิถี เขา-โหนด-นา-เล แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งนำโดย ดร.โชติกา รติชลิยกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ร่วมกับ อ.กรณิภา ศรีวรเดชไพศาล อ.เอมอร อ่าวสกุล และ อ.สิทธิพร  ศรีผ่อง คณะทำงานจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้รับการพิจารณาสนับสนุนจาก อพท. และ บริษัท เทคโก้ จำกัด อีกทั้งยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ และสถาบันทักษิณคดีศึกษา ถือเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา เป็นที่รู้จักในวงวิชาการด้านการบริการวิชาการให้กับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐอย่างมีคุณภาพ

สำหรับโครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานเอกชน ในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายแผนยุทธศาสตร์ประสานงานกับท้องถิ่น ให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นทะเลแบบลากูนหนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นหนึ่งเดียวใน 117 แห่งทั่วโลก