วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

มรภ.สงขลา จัดยิ่งใหญ่ “เทศกาลลากพระสรงน้ำ” ต.เกาะยอ ฟื้นประเพณีเก่าแก่กว่า 100 ปี สู่อัตลักษณ์คู่ท้องถิ่น

มรภ.สงขลา ผนึกชุมชน-ภาคีเครือข่าย จัดยิ่งใหญ่เทศกาลลากพระสรงน้ำ วัดแหลมพ้อ ต.เกาะยอ คณะวิจัยรื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่กว่า 100 ปี ปรับให้เหมาะกับยุคสมัย ชูคุณค่าทุนทางศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน สืบสานต่อยอด สร้างอัตลักษณ์คู่ท้องถิ่น

วันที่ 11 เมษายน 2567 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน : ย่านชุมชนเกาะยอ” กิจกรรมที่ 4 การจัดเทศกาลวัฒนธรรม (เทศกาลลากพระสรงน้ำ) ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2567 ณ วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา กล่าวรายงานโดย ผศ.ดร.กรฤต นิลวานิช หัวหน้าโครงการวิจัย โดยทีมคณะวิจัยจาก มรภ.สงขลา ร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ธัชภูมิ: ทุนวัฒนธรรม ประจำปี 2566 ได้ร่วมกันรื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่กว่า 100 ปี ปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยจนเกิดเป็นประเพณี ลากพระสรงน้ำ สืบสานประเพณีลากพระเดือนห้า เสริมความสิริมงคลรับปีใหม่ไทย

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ขอชื่นชมคณาจารย์ในคณะทำงาน ที่ผนึกกำลังร่วมกันแสดงศักยภาพของนักวิชาการที่สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ซึ่งพื้นที่ตำบลเกาะยอ ถือเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และมีวิถีชีวิตของชาวใต้ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จนก่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลาอีกแหล่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของคนในชุมชนที่ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นทุนทางสังคมที่ทำให้ชุมชนเกาะยอเป็นชุมชนที่เข้มแข็งน่าอยู่

โครงการนี้ถือได้ว่าได้ส่งเสริมพันธกิจของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านวิชาการและบริการวิชาการ ขณะเดียวกันยังเป็นการฟื้นคุณค่าทุนทางศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ของย่านชุมชนเก่าเกาะยอ นำไปสู่การสืบสาน ต่อยอด และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ย่านชุมชนเก่าเกาะยอ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ผศ.ดร.กรฤต นิลวานิช หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ทีมคณะผู้วิจัย มรภ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วย นักวิจัยจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งประเพณีลากพระทางน้ำหรือแห่เรือพระทางน้ำ เป็นประเพณีเก่าแก่ในพื้นที่ตำบลเกาะยอที่มีมาอย่างยาวนาน โดยรูปแบบการจัดประเพณีจะทำในช่วงประเพณีออกพรรษา ซึ่งวัดทุกวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจะมีการทำเรือพระและมีการตกแต่งเรือพระอย่างสวยงาม ทว่า ประเพณีลากพระทางน้ำของชาวเกาะยอเริ่มหายไป เมื่อประมาณปี 2527 ช่วงที่มีการสร้างสะพานติณสูลานนท์ หลังจากนั้นการลากพระทางน้ำของชาวเกาะยอก็ได้เปลี่ยนมาเป็นลากพระทางบกแทน

จากความสำคัญและความภาคภูมิใจของประเพณีลากพระทางน้ำของชาวเกาะยอ คณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดเวทีประชาคมกับชุมชนชาวเกาะยอ โดยประชาคมได้ลงมติว่าการรื้อฟื้นประเพณีลากพระทางน้ำช่วงออกพรรษาให้เปลี่ยนช่วงเวลาจัดประเพณีมาเป็นเดือน 5 และใช้ชื่อว่า “ประเพณีลากพระสรงน้ำ” และการรื้อฟื้นประเพณีครั้งนี้จะทำขึ้นโดยการจัดเป็นเทศกาล เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าของทุนวัฒนธรรม และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม เสริมพลังการเกาะเกี่ยวทางสังคมระหว่างคนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่ และสำนึกท้องถิ่นบนฐานทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ย่านชุมชนเก่าเกาะยอ