วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก มรภ.สงขลา

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ประจำปีการศึกษา 2563-2564 ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ระดับปริญญาโทและปริญญาตรี เข้ารับปริญญาบัตร รวม 1,890 คน แยกเป็น ระดับบัณฑิต 1,879 คน ระดับมหาบัณฑิต 11 คน

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีทัศนคติที่ถูกต้องตามอัตลักษณ์ “เป็นคนดี มีทักษะชีวิต มีจิตสาธารณะ” ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม โดยน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาเป็นแนวทางดำเนินการพัฒนาท้องถิ่น โดยได้ลงพื้นที่บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฐานการวิจัยตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผ่านการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ จัดโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 4 ชุมชน จังหวัดพัทลุงและจังหวัดสตูล จังหวัดละ 2 ชุมชน รวม 8 ชุมชน คัดเลือกชุมชนที่มีเกณฑ์รายได้ต่ำเป็นหลัก เน้น “การท่องเที่ยวชุมชน” ทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จนสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นโครงการ “ผลิตภัณฑ์ชุมชนบนห้าง” และเน้นการขายโดยใช้ตลาดออนไลน์ ซึ่งสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนและสร้างอาชีพให้ประชาชน

นับเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้ทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง โดยได้ดำเนินโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จัดแสดงผลงานและสาธิตการนำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นของตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานโครงการพระบรมราโชบาย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้นำสรรพกำลังลงพื้นที่ให้บริการวิชาการ อาทิ

โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อขยายตลาดภูมิปัญญา (University as Marketplace) ในพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล รับผิดชอบหลักโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา รับผิดชอบหลักโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการชุมชนต้นแบบยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชุมชนเกาะแต้ว ปีที่ 4 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รับผิดชอบหลักโดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยว วิถีชุมชนปีที่ 4 ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล รับผิดชอบหลักโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเกษตรพอเพียง อยู่ดี มีสุข พื้นที่ตำบลทุ่งลาน ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา รับผิดชอบหลักโดย คณะเทคโนโลยีการเกษตร

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นในทุกมิติ มีทักษะการประยุกต์ใช้ศาสตร์แขนงต่างๆ ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าช่วยส่งเสริมอาชีพของชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจครัวเรือนให้เข้มแข็ง อันเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ ประสานพลังและศักยภาพเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำสู่การปฏิบัติจริง ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น การผลิตครู การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการ โดยบูรณาการงานวิจัยและเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทในแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาตามความต้องการของท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพ มีงานทำ และเป็นพลเมืองดีมีวินัย ด้วยการพัฒนาด้วยองค์ความรู้อย่างยั่งยืนยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้ครัวเรือนยากจน และรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือ การสร้างเครือข่าย และยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา